คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์กรณีข้อสอบรั่ว ยันผู้ต้องหาในคดีไม่ใช่ศิษย์เก่า-บุคลากร เร่งสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
จากกรณีการจับกุม ดร.ขนิษฐา (สงวนนามสกุล) อายุ 53 ปี นักวิชาการอิสระ ลักลอบขโมยข้อสอบ โดยการตรวจสอบพบว่าแชตข้อความของปี 66 พบว่ามีการพูดคุยให้มีการลักลอบนำข้อสอบจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งออกไปให้กับนายตำรวจยศ “พล.ต.อ.” นายหนึ่งไปใช้สอบ ซึ่งผู้ที่นำข้อสอบออกไปนั้นคือ ดร.ขนิษฐา เป็นนักวิชาการอิสระ ดีกรีระดับปริญญาเอก แต่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยดังกล่าว ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีข่าวการจับกุมผู้ต้องหาในคดีร่วมกันนำเอกสารข้อสอบออกไปให้บุคคลอื่นทำ ก่อนส่งต่อให้อดีตนายตำรวจยศ “พลตำรวจเอก” เมื่อช่วงปี 2566
โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้จับกุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันเอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยนำข้อสอบคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกไปให้ผู้อื่นทำก่อนจะส่งต่อไปให้อดีตนายตำรวจยศพลตำรวจเอกนายหนึ่งคัดลอก เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงปี 2566 นั้น
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) รู้สึกเสียใจยิ่งกับเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้หลักสูตรฯ ในครั้งนี้ และขอเรียนว่า หลักสูตรฯ ได้รับการประสานจาก บช.สอท. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา และหลักสูตรฯ ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้มาโดยตลอด
หลักสูตรฯ ขอเรียนว่า “ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีครั้งนี้ มิใช่ศิษย์เก่าและมิได้เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย” แต่ได้อาศัยโอกาสกระทำการดังกล่าวจากการเข้ามาติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของหลักสูตรโดยที่เจ้าหน้าที่มิได้สังเกตพิรุธ (รายละเอียดอยู่ในขั้นตอนคดี) ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ของหลักสูตรได้ให้ข้อมูลและแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งประสานข้อมูลเพิ่มเติมทางการสอบสวน และหากมีการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในกรณีนี้หรือกรณีอื่น คณะนิติศาสตร์จะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับการจัดการในกรณีอื่น ๆ ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ ขอยืนยันเจตจำนงในอันที่จะรักษามาตรฐานการจัดการศึกษา การให้ปริญญา ตลอดจนคุณภาพบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาของไทย
อนึ่ง หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) เป็นหลักสูตรที่เปิดขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 สำหรับบุคคลทั่วไปที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาใดสาขาหนึ่งมาแล้วเข้าศึกษานอกเวลาราชการเพื่อให้ได้รับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิตอีกปริญญาหนึ่ง
ที่มา ไทยรัฐ