ทีมนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยคว้ารางวัลจากเวที “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยอีกครั้ง ในการคว้ารางวัลจากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2023) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ณ Exhibition Centre Nuremberg เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย คว้ารางวัลในเวที iENA 2023 ในระดับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญบรอนซ์ พร้อมด้วย Special Prize จากองค์กรนานาชาติ
โดยส่วนหนึ่งของผลงานที่ได้รับรางวัล ในระดับเหรียญทอง ได้แก่
- ผลงานเรื่อง “เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพาด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรดเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เวอร์ชั่น 2)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ผลงานเรื่อง “เครื่องช่วยขึ้น-ลงที่สูงสำหรับช่างสาย” โดย นายคมกฤษ ศรีสุดา และคณะ จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- ผลงานเรื่อง “N-SPR : นวัตกรรมชุดตรวจลายนิ้วมือแฝงราคาประหยัดจากเปลือกมันสำปะหลัง” โดย นายชนาธิป อมรธรรมสถิต และคณะ จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
- ผลงานเรื่อง “เครื่องวัดค่า vital signs ผ่านแอปพลิเคชันแบบ Real-time” โดย เด็กหญิงชญพรรษ วาฤทธิ์ และคณะ จาก โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
- และผลงานในระดับเหรียญรางวัลต่างๆอีก 17 ผลงาน
พร้อมด้วยผลงานที่ได้รับ Special Prize on stage จากองค์กรนานาชาติ ได้แก่
- รางวัลจาก International Federation of Inventors’ Associations (IFIA Best Invention Award) จากผลงานเรื่อง “เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพาด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรดเพิ่มประสิทธิภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เวอร์ชั่น 2)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และคณะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- รางวัลจาก Association of Polish Inventors and Rationalizers สาธารณรัฐโปแลนด์ (Special Award) จากผลงานเรื่อง “หุ่นจำลองอวัยวะหนูขาวใหญ่ (Rattus norvegicus) ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ ในรูปแบบมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ภาวนา เชื้อศิริ และคณะ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- รางวัลจาก The 1st Institute Inventors and Researchers in I.R. Iran สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (FIRI Award) จากผลงานเรื่อง “อีซี่การ์ด” โดย นายเพิ่มพล ตันสกุล และคณะ จาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (อว.) ได้ร่วมในพิธีมอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที iENA 2023 ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทย ในเวทีนานาชาติ รวมทั้ง (วช.) จะได้ส่งเสริมและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การสร้างโอกาสใหม่ๆในการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพและการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆอย่างเป็นมาตรฐานต่อไป
สำหรับ 13 หน่วยงานจากประเทศไทยที่ร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการคว้ารางวัลจากเวที “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” ได้แก่
• จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
• มหาวิทยาลัยนเรศวร
• มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
• มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
• การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
• การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
• บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
• สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
• สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
• โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
• โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
ที่มา:ข่าวความมั่นคงออนไลน์