นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.67 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.66 โดยมาอยู่ที่ 57.7 ลดจาก 58.9 ในเดือน มิ.ย.67 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันอยู่ที่ 41.5 ลดจาก 42.8 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ที่ 65.4 ลดจาก 66.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ที่สำรวจจากสมาชิกหอการค้าไทยอยู่ที่ 52.2 ลดจาก 54.6
สาเหตุจากผู้บริโภคกังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพเกี่ยวกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า จะยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ และคดีร้องศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะขาดคุณสมบัติกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี อีกทั้งยังกังวลภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน
รวมถึงกังวลต่อเศรษฐกิจโลก และสงครามในตะวันออกกลาง ที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับราคาพลังงานสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาคธุรกิจกังวลเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองเช่นกัน รวมถึงยอดขาย กำไร เพราะกำลังซื้อประชาชนยังไม่มี ต้นทุนยังอยู่ในระดับสูง
“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นขาลง และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว เพราะการเมืองไม่ค่อยดี มีกรณีถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง และคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งหากศาลตัดสินให้นายกฯอยู่ต่อ ก็จะไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่หากนายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติ และต้องเปลี่ยนตัว ก็อาจเกิดสุญญากาศทางการเมืองว่า ใครจะมา จะมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองหรือไม่ นโยบายจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยได้ และทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นขาลงต่อเนื่อง กรณีนี้อาจทำให้เศรษฐกิจไทยลดลง 0.3% แต่ยังมีโอกาสที่ทั้งปีนี้ จะโตได้ 2% นิดๆ”
ส่วนกรณีพรรคก้าวไกล หากต้องยุบพรรค เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือเศรษฐกิจที่รุนแรง เพราะ สส.สามารถย้ายพรรคได้ หรือเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้แล้ว การเมืองจะไม่มีสัญญาณเปลี่ยนแปลงมากมาย
นายธนวรรธน์กล่าวต่อถึงเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนและยังเป็นขาลง มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเติบโตได้ต่ำกว่า 2.5% จากที่ศูนย์ประเมินจะโตได้ 2.4-2.6% ค่ากลางที่ 2.5% หากรัฐบาลไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ โดยกำลังซื้อประชาชนยังไม่มี และระมัดระวังใช้จ่าย ทำให้วันแม่ปีนี้คาดจะมีเงินสะพัด 10,855 ล้านบาท แม้เพิ่มขึ้น 2.1% จากปี 66 ที่มีเงินสะพัด 10,632 ล้านบาท แต่อัตราขยายตัวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาที่ประมาณ 5% ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังถดถอยจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังชะลอ เศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ยังฟื้นช้า เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังฟื้นไม่ชัด รวมทั้งความเสี่ยงที่สงครามในตะวันออกกลางจะรุนแรงขึ้น.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/