ตำรวจจ่อจับลอตแรก ตึก สตง.ถล่ม สรุปมี 3 กลุ่ม รอผลพิสูจน์สัปดาห์หน้า ยังสูญ “8 ราย”

ตำรวจจ่อจับลอตแรก ตึก สตง.ถล่ม สรุปมี 3 กลุ่ม รอผลพิสูจน์สัปดาห์หน้า ยังสูญ “8 ราย”

“นพศิลป์” รอง ผบช.น.เผย คณะพนักงานสอบสวนคดีตึก สตง.ถล่ม เตรียมขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาลอตแรกในบางส่วนจากทั้งหมด 3 กลุ่ม ที่ถูกดำเนินคดี แบ่งเป็นผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน และผู้ก่อสร้าง มีทั้งบุคคลและนิติบุคคล ภายในสัปดาห์หน้าหลังจากได้รับผลการตรวจพิสูจน์เหล็ก และคอนกรีต รวมทั้งผลการตรวจสอบเอกสารการทำทีโออาร์ยืนยัน ขณะที่คณะกรรมการสืบสวนฯหาสาเหตุตึกถล่ม ระบุจากการลงพื้นที่เกิดเหตุเก็บข้อมูล พบผนังคอนกรีตมีปัญหาเนื้อปูนไม่จับกับเหล็กเส้น แถมเนื้อคอนกรีตหลายชิ้นมีสภาพร่วนสลายเร็ว ด้านการค้นหาผู้สูญหาย ผอ.สปภ. กทม.แจ้งปรับยอดผู้สูญหายเหลือ 8 ราย จาก 11 ราย เนื่องจากพบตัวทั้ง 3 รายแล้ว วันเกิดเหตุไม่ได้ไปทำงานเพราะเป็นลูกจ้างแบบรายวัน

กรณีอาคารกำลังก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม เมื่อวันที่ 28 มี.ค. จากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา ทำให้มีผู้สูญหายหลายรายอยู่ในซากตึก เจ้าหน้าที่หลายหน่วยเร่งตรวจสอบเก็บหลักฐานหาสาเหตุที่ตึกถล่ม โดยมีกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นหน่วยงานหลักรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทุกฐานความผิด รวมทั้งกรณีมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้เอาผิดผู้เซ็นสัญญาสร้างตึก ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ ม.157 หลังเหตุตึกถล่มผ่านไปเกือบเดือนครึ่ง สังคมต่างจับจ้องเนื่องจากคดีไม่คืบหน้า เนื่องจากจับกุมผู้ต้องหา บ.ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินคดีในความผิดคดีนอมินี 4 คนเท่านั้น ส่วนการค้นหาผู้สูญหายที่เหลือในซากอาคาร กทม.ปูพรมค้นเป้าหมายอีก 3 จุด ระบุภารกิจค้นหาร่างผู้สูญหายเสร็จสิ้นภายในวันที่ 10
พ.ค. จากนั้นส่งมอบคืนพื้นที่ให้ สตง. ส่วนตำรวจเตรียมขออายัดพื้นที่เกิดเหตุไว้ตรวจสอบตามที่เสนอข่าวไปแล้ว

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 พ.ค. การปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายในซากตึก สตง.ถล่ม เข้าสู่วันที่ 42 เจ้าหน้าที่กู้ภัยและทีมค้นหาหน่วยต่างๆ ระดมกำลังปูพรมหาผู้ติดค้าง คาดว่าอยู่ที่บริเวณชั้นใต้ดินของซากตึกในส่วนพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารสำนักงานกับอาคารจอดรถ และอาคารหอประชุม โซน A B และ D เจ้าหน้าที่เร่งปฏิบัติงานต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. ช่วงกลางคืนจนถึงช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ค. ใช้เครื่องจักรหนักเปิดพื้นที่ เดินเท้าสำรวจ และใช้กล้องโดรนบินดูจากมุมสูง โดยมี พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.บางซื่อ พนักงานสอบสวน บก.น.2 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ทีมวิศวกรกรมโยธาธิการและผังเมือง เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ร่วมประชุมวางแผนเก็บหลักฐานจุดรากฐานของอาคาร สตง.ที่ถล่มบริเวณชั้นใต้ดิน เป็นวันที่ 2 พร้อมกับคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้าง ในการเข้าตรวจสอบวันนี้ อนุญาตให้ตัวแทนบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย)
จำกัด หนึ่งในบริษัทร่วมออกแบบก่อสร้างตึก สตง. เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ต่อมาเวลา 10.30 น. ที่กองอำนวยการร่วม ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร นายสุริยชัย รวิวรรณ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร (สปภ.กทม.) แถลงข่าวความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหายและการตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้เสียชีวิตว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ได้เปิดพื้นที่โซน B จุดที่ติดกับอาคารที่ไม่ถล่มได้แล้ว เนื้อที่ประมาณ 30 เมตร ต่ำกว่าพื้นชั้นที่ 1 ลงไป ตรวจสอบไม่พบผู้ติดค้าง รวมถึงโซน A ไม่พบเช่นกัน ในส่วนโซน B ที่ติดอาคารจอดรถ เจ้าหน้าที่ยังเปิดพื้นที่ไปไม่ถึงโซนด้านล่าง เนื่องจากเครื่องจักรหนักเข้าไปค่อนข้างยากอีกทั้งด้านล่างมีเสาที่หักอยู่ 4 เสา ต้องใช้ความระมัดระวังแต่ก็มีความคืบหน้าไปมาก

“ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่นำสุนัขตำรวจ และทีมอาสาไปช่วยค้นหาโซน B สัญญาณบ่งชี้ว่า มีผู้สูญหายสุนัขดมกลิ่นส่งสัญญาณบอก ประกอบกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูให้ข้อมูลว่า ได้กลิ่นศพโชยออกมาจากบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะเน้นค้นหาพื้นที่ดังกล่าว ส่วนการค้นหากองซากอาคาร สตง.และวัสดุ ด้านหลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อวันที่ 7 พ.ค. พบชิ้นส่วนมนุษย์ 1 ชิ้น ตอนเช้าวันนี้พบเพิ่มอีก 1 ชิ้น นำส่งที่สถาบันนิติเวชวิทยา สำหรับยอดผู้สูญหายที่เหลือ 11 คน ต้องปรับลดจำนวนเหลือ 8 คน เพราะจากการสืบสวนสอบสวนทราบว่ามี 3 คนที่แจ้งสูญหาย พบตัวแล้วเนื่องจากวันเกิดเหตุไม่มาทำงาน เป็นลูกจ้างรายวันญาติอาจเข้าใจผิด” นายสุริยชัยกล่าว

มีรายงานว่า คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงอาคาร สตง.ถล่มว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโครงสร้างและวัสดุศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ให้ความสนใจคลิปไลฟ์สดที่เกิดเหตุอาคาร สตง.ถล่มหลายคลิป ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เนื่องในการไลฟ์สดบันทึกภาพชิ้นส่วนอาคารที่สำคัญในสภาพสมบูรณ์ไว้หลายอย่าง มีประโยชน์ต่อการนำมาศึกษาคำนวณประกอบกับงานตรวจสอบตัวอย่างชิ้นส่วนหลักฐานทางวิศวกรรม นำข้อมูลไปใช้สร้างแบบจำลองเหตุการณ์การถล่มให้มีความแม่นยำ และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในคณะสืบสวนข้อเท็จจริงฯ เปิดเผยว่า จากการดูคลิปการรื้อซากอาคารของเจ้าหน้าที่กู้ภัย หลายคลิปและลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่า โครงสร้างผนังคอนกรีตหลายชิ้นอาจมีปัญหาในขั้นตอนออกแบบโครงสร้าง หรือขั้นตอนก่อสร้าง ทำให้เนื้อปูนไม่จับกับเหล็กเส้นในชิ้นคอนกรีต เนื้อคอนกรีตหลายชิ้นมีสภาพร่วนสลายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามต้องติดตามตรวจสอบโครงสร้างผนังปล่องลิฟต์ที่ยังสมบูรณ์ทั้งหมด 6 จุดเพิ่มเติม คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ได้ประสานพนักงานสอบสวนดีเอสไอ และ บช.น.อายัดพื้นที่ไว้แล้ว พร้อมทั้งขอให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ช่วยเคลียร์เศษซากวัสดุที่ปิดกั้นในช่องลิฟต์ทั้งหมดออก เพื่อให้ทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอย่างละเอียด

ด้าน พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องเหตุตึก สตง.ถล่มว่า พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานแวดล้อม และพยานวัตถุ เช่น เหล็กที่ใช้มีลักษณะอย่างไร รวมทั้งเอกสารตั้งแต่เริ่มทำ TOR โครงการ สัญญาการจ้าง การออกแบบ การจ้างควบคุมงานและจ้างการก่อสร้าง พนักงานสอบสวนตั้งแนวทางการดำเนินคดีไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้ออกแบบ ประกอบด้วย กรรมการผู้มีอำนาจ วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และ บ.บริษัทไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มที่ 2 ผู้ควบคุมงาน เช่น กรรมการผู้มีอำนาจ วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับกิจการร่วมค้า PKW (บ.พีเอ็น ซิงค์โครไนซ์ บ.ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ และ บ.เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์) และกลุ่มที่ 3 ผู้ก่อสร้าง ประกอบด้วยกรรมการผู้มีอำนาจ วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี (อิตาเลียนไทย)-CREC (ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย)

รอง ผบช.น.กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีข้อมูลและข้อเท็จจริงว่า มีการทำ TOR ว่าจ้าง 2 บริษัทในการออกแบบอาคาร พนักงานสอบสวนได้ส่งแบบไปให้สภาวิศวกร วิศวกรรมสถาน และผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบว่า แบบเป็นไปตาม กฎหมายควบคุมอาคารหรือไม่ ผลจะสอดคล้องกับรายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า การออกแบบดังกล่าวมีความไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงและมาตรฐาน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลจากผู้เชี่ยวชาญในสัปดาห์หน้า ถัดมาประเด็นการก่อสร้างอาคารที่มีการออก TOR และว่าจ้างกิจการร่วมค้า 2 บริษัท เบื้องต้นได้นำวัตถุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น เหล็กและคอนกรีตส่งพิสูจน์ในช่วง 7 วันแรกหลังจากเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ และกรมโยธาธิการและผังเมืองเก็บหลักฐานจากที่เกิดเหตุและเก็บชิ้นงานทุกวัน เก็บเหล็กไปทั้งหมด 315 ชิ้น ส่วนปูนมีการเจาะตั้งแต่บริเวณพื้น เสา ปล่องลิฟต์ ลงมาถึงบริเวณชั้นล่างได้ชิ้นส่วนตัวอย่างมาทั้งหมด 75 ชิ้น เบื้องต้นทำการตรวจสอบแล้ว ในสัปดาห์หน้าทราบผลเช่นกัน ขณะนี้ได้รับผลตรวจของเหล็กและปูนบางส่วนแต่ยังไม่ครบถ้วน พนักงานสอบสวนกำลังรอผลที่เหลือ

พล.ต.ต.นพศิลป์กล่าวอีกว่า ประเด็นสุดท้ายการจ้างควบคุมงานก่อสร้างที่ทำ TOR และว่าจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้า ในส่วนนี้มีประเด็นเรื่องของการแก้ไขแบบการก่อสร้างผนังปล่องลิฟต์ หรือ Core Lift ปรากฏมีประเด็นพบว่าวิศวกรถูกปลอมลายเซ็น พนักงานสอบสวนได้เอกสารข้อเท็จจริงมาแล้วผลการตรวจสอบจะออกในสัปดาห์หน้าเหมือนกัน จากการประสานข้อมูลการทำงานร่วมกับดีเอสไอเบื้องต้นพบว่า จากการสอบปากคำวิศวกร 40 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงลายมือชื่อ ในจำนวน 36 คนที่เข้าให้ข้อมูล มีทั้งหมด 28 คน อ้างว่าถูกปลอมลายเซ็น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องตรวจสอบ ส่วนการสอบปากคำผู้แทนจาก สตง.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจรับงาน พนักงานสอบสวนสอบปากคำไปแล้ว 36 ปาก หากได้รับผลการตรวจสอบทั้งหมดครบถ้วนแล้ว พนักงานสอบสวนจะนำมาพิจารณาองค์ประกอบทางกฎหมายดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทุกรูปแบบ ทั้งในฐานะส่วนบุคคลและนิติบุคคล เช่น กลุ่มวิศวกร ที่มีการลงลายมือชื่อ ยืนยันว่าในสัปดาห์หน้าขอออกหมายจับกลุ่มคนเหล่านี้บางส่วน

ด้าน พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) กล่าวว่า ความคืบหน้าการสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 มอบหมายให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่ สตง.เป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ควบคุมงานโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. เหตุที่ต้องสอบปากคำเนื่องจากโครงการดังกล่าว ผู้ที่ได้รับสัญญาควบคุมงานคือ กิจการร่วมค้า PKW ประกอบด้วย บ.พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บ.ว.และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และ บ.เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด ต้องสอบถามว่าเหตุใดได้รับการคัดเลือก รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก การจัดทำข้อกำหนดเงื่อนไขของงานเป็นไปตาม TOR กำหนดไว้หรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องสอบปากคำคณะกรรมการผู้พิจารณาคัดเลือกผู้ รับเหมาก่อสร้าง ผู้ออกแบบ ส่วนวิศวกรที่เหลือยังไม่เข้าพบพนักงานสอบสวนสอบปากคำอยู่ระหว่างดำเนินการ กรอบระยะเวลาทำสำนวนคดีนอมินีเหลือประมาณ 20 วัน ต้องเร่งรัดสรุปสำนวนก่อนนำส่งพนักงานอัยการ

ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ วันเดียวกัน นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า วันที่ 9 พ.ค. เวลา 10.00 น. สภาทนายความจะมอบเงินเยียวยาจากที่มาจากการเจรจากับผู้แทนกิจการร่วมค้า บริษัท ไชน่าเรลเวย์ฯ และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ให้กับญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ชุดแรกจำนวน 21 ราย ประกอบด้วย ทายาทผู้เสียชีวิตจำนวน 12 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวน 9 ราย ในกรณีผู้เสียชีวิตรายละ 1 ล้านบาท ผู้บาดเจ็บรายละ 2 แสนบาท โดยการช่วยจะไม่มีผลกับการฟ้องคดี หากผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บไม่พอใจมีสิทธิ์ยื่นฟ้องร้องเรียกค่า เสียหายในชั้นศาลได้ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ในส่วนผู้เสียหายที่เหลือจะมีการเจรจาเยียวยาให้ได้ครบทุกรายต่อไป

ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดโครงการเสวนาเชิงวิชาการ “บทบาทในการดำเนินคดีทุจริตภายใต้แนวนโยบายของรัฐบาลในมิติของปัจจุบันและอนาคตเพื่อตอบสนองความ ต้องการของประชาชน” จัดโดย ป.ป.ท. นายภูมิธรรม กล่าวถึงกรณีตึก สตง.ถล่มตั้งข้อสงสัยถึงเรื่องการทุจริตว่า สตง.เป็นหน่วยงานหลักติดตามตรวจสอบการกระทำทุกส่วน หรือโครงการต่างๆ แต่เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นมา หมายถึงความบกพร่องที่เกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง การซื้อวัสดุก่อสร้าง หรือการบริหารต่างๆ ขณะนี้ยังพูดไม่ได้ว่าใครเป็นผู้มีปัญหา หลังจากนี้ต้องนำเข้าสู่กระบวนการโดยเร็ว นำผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ ยอมรับว่าในการพิสูจน์วัสดุอุปกรณ์ต่างๆไม่ง่าย แต่นายกฯได้กำชับแล้วว่า ให้นำคนผิดมาลงโทษให้ได้ และต้องระมัดระวังไม่ให้คนบริสุทธิ์กลายเป็นจำเลย ยืนยันรัฐบาลจริงจังเรื่องนี้ ทราบดีว่าวันนี้ประชาชนคลางแคลงใจตั้งคำถาม หน้าที่ของเราคือทำข้อเท็จจริงปรากฏให้ได้

ที่มา ไทยรัฐ

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

4,182 Posts

View All Posts
Follow Me :

You May Have Missed