ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรระบาดหนัก พบมีประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก หลังจากเคยออกมาเตือน พร้อมฝากแนทางป้องกัน 8 ข้อ
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 30 ม.ค.66 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนจริญ โฆษก บช.สอท. เตือนภัยในกรณียังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรอย่างต่อเนื่องว่า ตามที่ บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน กรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ส่งข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชน หลอกให้กดลิงก์แอดไลน์ของกรมสรรพากรปลอม แล้วส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมสรรพากรปลอมซึ่งแฝงมากับมัลแวร์ (Malware) หรือโปรแกรมประสงค์ร้ายที่ถูกเขียนขึ้นมา เพื่อทำอันตรายกับข้อมูลในระบบ เช่น ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ทำงานผิดปกติ ขโมยหรือทำลายข้อมูล หรืออาจจะเปิดช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาควบคุมโทรศัพท์ของเราได้ รวมไปถึงหลอกลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน โดยมิจฉาชีพมักจะอ้างว่าจะขอทำการตรวจสอบรายได้ของท่าน หรือเป็นการแจ้งเตือนให้ชำระภาษี หรือให้ทำการยกเลิกเสียภาษีจากโครงการของรัฐบาล หรืออ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้เสียภาษีย้อนหลังได้ ผ่านแอปพลิเคชันกรมสรรพากรปลอมดังกล่าว
แต่ในปัจจุบันยังคงพบว่ามีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันของกรมสรรพากรปลอม แล้วถูกมิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีเป็นจำนวนมาก ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีเจ้าของร้านขายของชำถูกมิจฉาชีพ หลอกติดตั้งแอปพลิเคชันสรรพากร ให้ยกเลิกถุงเงิน และให้เสียภาษีย้อนหลัง สูญเงินกว่า 1.6 ล้านบาท หรือกรณีสามีภรรยาถูกมิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน อ้างว่าให้ยกเลิกภาษีในโครงการคนละครึ่ง สูญเสียเงินเก็บก้อนสุดท้ายกว่า 1 ล้านบาท
ที่ผ่านมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ รวมถึงการหลอกลวงในทุกรูปแบบสิ่งแรกที่มิจฉาชีพมักจะทำก่อนเสมอ คือ การสร้างความน่าเชื่อถือ ในกรณีนี้ เช่น ตั้งรูปกรมสรรพากรเป็นโปรไฟล์แอปพลิเคชันไลน์ใช้ในการพูดคุยกับเหยื่อ หรือใช้ข้อมูลที่มิจฉาชีพรู้บอกเหยื่อก่อน เช่น บอกว่าเหยื่อใช้โครงการคนละครึ่ง หรือบอกหมายเลขโทรศัพท์เหยื่อได้ถูกต้อง เป็นต้น นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมักจะประกอบอาชีพค้าขาย เกี่ยวข้องกับการเสียภาษี โดยมิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง อย่างไรก็ตาม บช.สอท. ยังคงมุ่งมั่นปราบปราม กดดัน จับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงสร้างกรรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และขอฝากไปยังภาคประชาชนช่วยแจ้งเตือนบุคคลใกล้ชิด หรือรายงานไปยังหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้
- ไม่กดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟล์ APK เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูลหรือการฝังมัลแวร์ (Malware) ของมิจฉาชีพ
- ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
- ตรวจสอบก่อนว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรจริงหรือไม่ ให้ท่านขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้ติดต่อกลับ หรือโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) 1161 ของกรมสรรพากรโดยตรง
- ระมัดระวังแอปพลิเคชันที่ขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ขอเข้าถึงอัลบั้มรูปภาพ, ไมโครโฟน, ตำแหน่งที่ตั้ง, หมายเลขโทรศัพท์, รายชื่อผู้ติดต่อ เป็นต้น โดยควรอนุญาตให้เข้าถึงเท่าที่จำเป็น
- หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวแล้ว ให้รีบเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) เพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงถอดซิมโทรศัพท์ออก จากนั้นเข้าไปติดต่อกับศูนย์บริการโทรศัพท์ที่ท่านใช้งานอยู่
- ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันที่เข้ามาในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด
- หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่ส่งต่อกันมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และให้ตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่จะติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ
- ไม่โอนเงิน หรือทำธุรกรรมการเงินใดๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านลิงก์ หรือผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญชีธนาคารที่ใช้ซื่อของบุคคลธรรมดา
ที่มา:ไทยรัฐ