สสจ.ปราจีนบุรี ลงพื้นที่โรงหลอมเหล็ก ตรวจเลือด-ปัสสาวะคนงาน หาสารซีเซียม-137 อีกครั้ง หลังผวจ.แถลงยืนยัน “กัมมันตรังสีไม่แพร่กระจาย” พบคนงาน 70 คน ไม่มีใครได้รับรังสี ด้านชาวบ้านบอกก็กลัวเหมือนกัน เพราะบ้านอยู่ใต้ลม ขณะที่รถบรรทุกเศษเหล็กยังวิ่งเข้า-ออกโรงงานตามปกติ
ช่วงบ่ายของวันที่ 20 มีนาคม 2566 หลังจากนายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นางมาละนี จินดารัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี นายกิตต์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จว.ปราจีนบุรี นายสุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวกรณีพบวัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่ห้องศูนย์เรียนรู้ ศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรีแล้วนั้น
ในช่วงบ่าย นายสุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอกบินทร์บุรีนำทีมแพทย์จากโรงพยาบาลกบินทร์บุรีลงพื้นที่โรงงานหลอมเหล็กของ บริษัท เค ที พี สตีล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เรียกคนงานจำนวน 70 คน ตรวจสอบหารังสีอีกครั้ง รวมทั้งตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะคนงานทั้งหมด โดยการตรวจในเบื้องต้นไม่มีคนงานคนใดได้รับรังสีฯ
ตรวจหา ซีเซียม-137
นางจรูญ (ขอสงวนนามสกุล) ชาวบ้านหมู่ 10 ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า บ้านอยู่ห่างจากโรงงานหลอมเหล็กประมาณ 200 เมตร รู้สึกหวาดกลัวว่าจะได้รับผลกระทบจากสารดังกล่าว เกรงว่าจะสูดดมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว และบ้านก็ตั้งอยู่ใต้ลม
ส่วน นายวินัย สระวิจิตร ชาวบ้านหมู่ 10 อีกราย กล่าวเช่นกันว่า รู้สึกหวาดกลัวเพราะบ้านอยู่ไม่ห่างจากโรงงาน กลัวสารจะรั่วไหลออกมา ทราบมาว่าไปถูกละอองสารอาจจะทำให้เป็นแผลพุพองตามร่างกาย ประชาชนยังเฝ้าฟังข่าวจากทางจังหวัดว่าสารนี้มาอยู่ในโรงงานนี้ได้อย่างไร และจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
อย่างไรก็ตาม พบว่า โรงงานหลอมเหล็กดังกล่าวยังเปิดประตูให้รถบรรทุกเหล็กเข้าไปภายในโรงงานโดยไม่มีปิดพื้นที่แต่อย่างใด ส่วนเจ้าหน้าที่นั้นยังก็ยังคงตรวจสอบสารกัมมันตรังสี โดยใช้เครื่องมือเดินตรวจไปรอบโรงงาน
ทั้งนี้ การแถลงข่าวในวันนี้ นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า “วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หายไปจากที่ติดตั้ง ของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ทางจังหวัดปราจีนบุรีตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้นำกำลังคนและอุปกรณ์มาทำการตรวจสอบตามโรงงานที่คาดว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่จะมีโอกาสหลุดรอดเข้าไป โดยมีการทำการตรวจสอบติดตามมาอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดรังสีในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท หยงชิง สตีล (ไทยแลนด์) จำกัด 139 หมู่ที่ 13 ตำบลหัวหว้า อำเภอศรีมหาโพธิ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เลขที่ 518/1 หมู่ที่ 9 ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี บริษัท เค ที พี สตีล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ที่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี บริษัท ที เอส บี เหล็กกล้า จำกัด เลขที่ 502 หมู่ที่ 9 ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ บริษัท สิงห์ไทย สตีล จำกัด เลขที่ 122 หมู่ที่ 11 ต.หัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ
ล่าสุด วันที่ 19 มีนาคม ทางจังหวัดปราจีนบุรีพร้อมด้วยงานปรมาณูเพื่อสันติ ป้องกันและบรรเทาสาธรณภัย ปกครอง ลงพื้นที่เข้าทำการโรงหลอมเหล็กในอำเภอกบินทร์บุรี จำนวน 2 โรง และอำเภอศรีมหาโพธิอีก 2 โรง พบว่า ในรอบแรกยังไม่พบมีการปนเปื้อน จึงใช้เครื่องมือดูดอากาศตรวจหารังสีรอบๆ บริเวณโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยเก็บตัวอย่างดิน น้ำ อากาศ ตรวจหาสารปนเปื้อน ก็ยังไม่พบซีเซียม-137
ช่วงเย็นมีการมีการตรวจสอบในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ด้วยเครื่องมือสามารถตรวจพบการปนเปื้อนในฝุ่นที่ได้จากการผลิตโลหะ คือวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในบิ๊กแบ็ก 24 ถุง รวม 24 ตัน ที่อยู่ในพื้นที่ปิดของโรงหลอม อ.กบินทร์บุรี และมี 1 ถุง มีการนำไปถมที่บริเวณหลังโรงงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจึงให้ทางโรงหลอมขุดดินใส่บิ๊กแบ็กกลับมาเก็บที่เดิมในโรงงาน ทางจังหวัดได้ประกาศให้กันบริเวณโรงงานเป็นเขตควบคุม
ขณะนี้ขอยืนยันว่า ซีเซียม-137 ที่ปนเปื้อนในฝุ่นโลหะถูกควบคุมและจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ไม่กระจายออกจากโรงงาน และทำการตรวจหาการปนเปื้อนในร่างกายของพนักงานทุกคนที่มีจำนวน 70 คน (คนไทย 10/ต่างด้าว 60) ไม่พบมีการปนเปื้อนตามร่างกายของพนักงาน ตามข้อมูลทางวิชาการที่ใช้เครื่องมือตรวจสอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติสามารถควบคุมและจำกัดสารซีเซียม-137 อยู่ในเฉพาะพื้นที่ จากการตรวจสอบยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ซีเซียม-137 ที่พบในโรงหลอมเหล็กจะเป็นชิ้นเดียวกับที่สูญหายหรือไม่
ด้านเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า กัมมันตรังสีที่ตรวจพบในโรงหลอมเหล็กไม่ได้ฟุ้งกระจายอย่างที่ประชาชนกังวล ส่วนจุดที่พบบิ๊กแบ็กข้างโรงหลอม ซึ่งถูกนำไปถมที่ด้านข้าง เจ้าหน้าที่ให้ขุดบิ๊กแบ็กและดินนำขึ้นมาในพื้นที่ที่กำหนด และตรวจหาอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่พบกัมมันตรังสี จึงไม่มีการปนเปื้อนตามธรรมชาติ
ด้านนายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า เมื่อวานเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดค่ารังสี พบว่า ตรวจจับได้ จึงได้กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งจุดที่พบเป็นจุดหลอมเหล็กเป็นพื้นที่ปิด เมื่อตรวจสอบในโรงงานโดยรอบรัศมีห่างออกไปราว 10 เมตร ไม่พบค่าวัสดุกัมมันตรังสี จึงจำกัดวงเฉพาะที่ตรวจพบ ส่วนกรณีที่ประชาชนกังวลว่าจะมีการฟุ้งกระจาย ยืนยันว่าที่ปลายปล่องโรงหลอมมีฟิลเตอร์เป็นตัวดักจับ เมื่อฝุ่นเหล็กลอยขึ้นไปติดกับฟิลเตอร์ และเย็นลง จะร่วงลงมาด้านล่าง
ขณะที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วัสดุกัมมันตรังสี Cesium-137 ที่ติดอยู่ด้านบนไซโลความสูง 18 เมตร ว่า ออกมาจากมาจากจุดที่ติดได้อย่างไร และออกไปนอกโรงไฟฟ้าจนถึงโรงหลอมได้อย่างไร นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติไปแจ้งความกับ บริษัท เนชั่นแนล พาวเวร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด กับพวก ในความผิดฐาน “ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือเสียหายอันเกิดจาการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาต มีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องตันตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที รวมทั้งต้องให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ไข บรรเทา หรือระงับซึ่งอันตรายหรือความเสียหายนั้น” ส่วนข้อมูลอื่นๆ ตำรวจกำลังสอบสวนเพิ่มเติม
นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า ได้ตรวจสุขภาพ (เลือด) ผู้เกี่ยวข้องในโรงหลอม ไม่พบความผิดปกติ และผลตรวจสอบการตรวจสุขภาพย้อนหลังก็ยังไม่พบความผิดปกติด้านร่างกาย สิ่งหนึ่งที่สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีจะดำเนินการเพิ่ม คือ วางระยะในการตรวจสุขภาพผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงไฟฟ้าและโรงหลอม ในระยะ 6 เดือน และ 1 ปี ในระยะนี้ยังไม่มีผลกระทบใดๆ.