ชาวสวนทุเรียนหมอนทองที่บางสะพานเจอภัยแล้ง หากสิ้น เม.ย. 66 ฝนไม่ตกลำบากแน่

ชาวสวนทุเรียนหมอนทองที่บางสะพานเจอภัยแล้ง หากสิ้น เม.ย. 66 ฝนไม่ตกลำบากแน่

ผู้ปลูกทุเรียนหมอนทองที่ อ.บางสะพาน เผย เดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาภัยแล้ง เพราะฝนทิ้งช่วงยาวนาน หากสิ้น เม.ย.นี้ไม่มีฝนตก จะกระทบกับสวนทุเรียนหมอนทองหลายพันไร่ที่กำลังให้ผลผลิตขาดน้ำแน่นอน

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566 นายสุชาติ พูลนาค อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แกนนำผู้ปลุกทุเรียนหมอนทองและปลูกสับปะรดส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออกที่ อ.บางสะพาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ อ.บางสะพาน และ อ.บางสะพานน้อย ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งการปลูกทุเรียน สับปะรด กาแฟ เงาะ ลองกอง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน ส่งผลทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ไม่มีแหล่งน้ำในธรรมชาติ หากสิ้นเดือนเมษายนนี้ไม่มีฝนตก จะกระทบกับสวนทุเรียนหมอนทองหลายพันไร่ที่กำลังให้ผลผลิต โดยเฉพาะทุเรียนคลองลอยที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค มีปัญหาได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับล้งทุเรียน เพื่อส่งผลผลิตออกไปตลาดต่างประเทศ เกษตรกรบางรายอาจต้องคืนเงินค่ามัดจำ เนื่องจากผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อป้องกันผลกระทบ ได้ประสานไปยังหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทำฝนหลวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอให้นำเครื่องบินจากสนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน มาทำฝนเทียม แต่พบว่าการทำฝนเทียมหลายครั้งยังไม่ประสบผลลำเร็จ เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่เพียงพอ เนื่องจากสภาพร้อนจัด นอกจากนั้น การบินโปรยสารเคมีต่อเนื่องหลายวัน แต่ฝนยังไม่ตกในพื้นที่เป้าหมายด้านทิศตะวันตกของ อ.บางสะพาน และ อ.บางสะพานน้อย ยังมีอุปสรรคจากภูมิประเทศฝั่งตะวันออกติดทะเลอ่าวไทย และพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรีฝั่งตะวันตกติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การโปรยสารเคมีเพื่อบังคับทิศทางให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย ทำได้ยากมาก

ด้าน นางแฉล้ม เรืองทอง อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำที่หมู่ 8 บ้านคลองลอย หมู่ 8 ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน กล่าวว่า ต้องขอวิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์และหน่วยราชการให้เร่งทำฝนเทียม อีก 5 วัน หากฝนไม่ตกที่อ่างคลองลอย ซึ่งมีความจุ 2 แสนลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะนี้น้ำเหลือติดก้นอ่างไม่มาก น้ำจะแห้งทั้งหมด เนื่องจากเจ้าของสวนทุเรียนมากกว่า 4000 ไร่ ต้องการใช้น้ำรดต้นทุเรียนที่กำลังให้ผลผลิต และจะออกจำหน่ายในเดือนมิถุนายนนี้ หากน้ำในอ่างแห้ง เกษตรกรบางรายจะต้องลงทุนซื้อน้ำไปรดต้นทุเรียน เพื่อป้องกันผลร่วง และขณะนี้บางส่วนพบว่าทุเรียนยืนต้นตาย หลังเจอวิกฤติภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 4 ปี

ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำที่หมู่ 8 บ้านคลองลอย กล่าวอีกว่า ขณะที่การเจาะบ่อบาดาลจะมีปัญหา เนื่องจากบางพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่สามารถเจาะได้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขอให้ ปภ.ใช้เครื่องสูบน้ำระยะไกล สูบน้ำจากสระน้ำมาลงอ่าง และยอมรับว่าปัญหาสวนทุเรียนขาดน้ำ ทำให้เกษตรกรโซนบนและโซนล่างของหมู่บ้านมีความขัดแย้ง ต้องแย่งชิงน้ำ แต่ล่าสุดมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะสูบน้ำในอ่าง หลังจากน้ำหมด หากฝนไม่ตกก็ต้องขอให้ทางราชการเข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วน

ส่วน น.ส.ชุติการ นาคอุดม เลขานุการนายก อบต.ร่อนทอง กล่าวว่า เพื่อลดผลกระทบ อบต.ได้นำน้ำเพื่อการอุปโภคแจกจ่ายให้ประชาชน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร ทราบว่ากรมชลประทานมีแผนจะขุดลอกอ่างคลองลอย ยอมรับว่าปีนี้ภัยแล้งรุนแรงมาก ที่ผ่านมาหลายปี มีเกษตรกรบางรายต้องลงทุนซื้อน้ำจากรถบรรทุก เพื่อรดน้ำทุเรียน โดยใช้ทุนรายละมากกว่า 7 แสนบาท.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,849 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *