จ. นครพนม ประกอบรัฐพิธีถวายราชสักการะเนื่องในจักรี ประจำปี 2566

จ. นครพนม ประกอบรัฐพิธีถวายราชสักการะเนื่องในจักรี ประจำปี 2566

จ. นครพนม ประกอบรัฐพิธีถวายราชสักการะเนื่องในจักรี ประจำปี 2566

วันที่ 6 เมษายน 2566 ที่บริเวณหอเฉลิมพระเกียรติพระราชวงศ์จักรี ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายวันขัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ ตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ร่วมกันประกอบรัฐพิธีถวายราชสักการะและบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ประจำปี 2566 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาจักรีบรมวงศ์ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันน้อยใหญ่นานัปการเพื่อพสกนิกรชาวไทย

โดยวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 และทรงปกครองปวงชนชาวไทยให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เป็นแบบอย่างที่พระมหากษัตริย์ไทยในพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทสืบต่อกันมาโดยลำดับ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ซึ่งมีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ จนกระทั่งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนในปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายน ว่า วันจักรี

ทั้งนี้สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมราชจักรีวงศ์แต่ละพระองค์ ล้วนทรงพระปรีชาสามารถในพระราชกิจที่เหมาะสมแก่กาลสมัย เริ่มตั้งแต่พระปฐมกษัตริย์ได้ทรงปลูกฝังความมั่งคั่งให้แก่ราชอาณาจักรไทย รัชกาลในลำดับต่อมาก็ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมทุกสาขา ทรงเชิดชูพระบวรพุทธศาสนาและสั่งสมความมั่งคั่งสมบูรณ์แก่ประเทศสืบช่วงกันตามลำดับ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยิ่งตระหนักชัดในดวงจิตของพสกนิกรชาวไทย พระองค์ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจครองแผ่นดินด้วยความเป็นธรรม ทรงนำความเรียบร้อย ร่มเย็น มาสู่อาณาประชาราษฎร์ ตราบจนรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ทรงพระราชกรณีกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์นานับประการแก่ประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย

ที่มา:ข่าวความมั่นคออนไลน์

ผู้นำเสนอข่าว

ยัยแม่มด

Written by:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed