จากการเสวนาเรื่อง “เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ” โดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ.กล่าวว่า ข้อมูลเด็กหลุดระบบการศึกษาตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยในปีการศึกษา 2566 มีมากกว่า 1 แสนคน มีปัญหาจากความยากจนของครอบครัวและค่าใช้จ่ายในการส่งลูกมาเรียน โดยเฉพาะค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบ ค่าหนังสือ ค่าเดินทาง โดยเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 17,832 บาท/ปี เขต กทม.อยู่ที่ 37,257 บาท/ปี ขณะที่ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ย 12,000 บาท/ปี โดยเด็กที่จะหลุดจากระบบมากที่สุดคือระดับประถม และ ม.ต้น หากช่วยเหลือช้าเด็กจะหลุดจากระบบอย่างถาวร แนวทางการช่วยเหลือคือ ต้องมีหลายช่องทาง หลักสูตรมีการออกแบบให้เหมาะกับเด็ก ช่วยเหลือพ่อแม่ให้มีงานทำ ที่สำคัญควรเร่งจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้มี รมว.ศธ.และทีมงานเข้ามาช่วยปฏิรูปการศึกษา นำเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบ
ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน กสศ.พบว่า ทักษะแรงงานในอนาคตจะต้องมีความสามารถที่หลาก หลายด้านมาก ทั้งยังพบว่าระดับการศึกษาที่มีอยู่แค่ ม.3 นั้นไม่เพียงพอแล้ว ซึ่งการจะอยู่รอดได้ในอนาคตเด็ก จะต้องมีความรู้อย่างน้อยในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.)
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/