ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตศึกษาทบทวนโครงสร้างและอัตราภาษียาสูบทั้งในระยะ ปานกลางและระยะยาว เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างแบบอัตราเดียวที่เหมาะสมเป็นธรรม และคำนึงถึงการแข่งขันในตลาด และการดูแลสุขภาพ ของประชาชนด้วยนั้น ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เชิญ ผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพสามิตได้เข้าหารือถึงเรื่องดังกล่าว พร้อมสอบถามความคืบหน้าการศึกษาดังกล่าว โดยนายอาคมได้กำชับให้กรมสรรพสามิต เร่งศึกษาข้อดีและข้อเสียให้แล้วเสร็จ หลังจากโครงสร้างยาสูบได้ประกาศใช้มาแล้วเกือบ 2 ปี
สำหรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ ที่มีการจัดเก็บมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 ดังนี้ 1.อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแร็ต จัดเก็บภาษีตามมูลค่า 25% ของราคาขายปลีกแนะนำ ซองละไม่เกิน 72 บาท และ 42% ของราคาขายปลีกแนะนำ ที่เกินซองละ 72 บาท และจัดเก็บภาษีตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน 2.อัตราภาษียาเส้นที่มีปริมาณการผลิตไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี จัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.025 บาทต่อกรัม และยาเส้นที่มีปริมาณการผลิตเกิน 12,000 กิโลกรัม จัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.10 บาทต่อกรัม โดยรายได้จากภาษียาสูบเป็นรายได้อันดับที่ 5 ของกรมสรรพสามิตมีรายได้เฉลี่ยปีละ 60,000-64,000 ล้านบาท
ส่วนปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ถึงแม้จะเป็นสินค้าห้ามนำเข้า แต่มีวางจำหน่ายผ่านออนไลน์และวางขายตามแหล่งบันเทิงทั่วประเทศนั้น ถือเป็นปัญหาคาราคาซังที่ไม่มีข้อยุติ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ยินยอมที่จะให้กำหนดอัตราพิกัดภาษี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำได้เพียงการปราบปรามตามกฎหมายเท่านั้น โดยผู้ใดนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/