ชาวภูเก็ตกว่า 1,000 คน ใส่ชุดพื้นเมือง บาบ๋า ย่าหยา ร่วมขบวนคาร์นิวัลที่ย่านเมืองเก่า ในงาน Phuket Peranakan Festival ยกระดับงานเทศกาลครั้งยิ่งใหญ่ชูวัฒนธรรมบาบ๋า ย่าหยา สู่เพอรานากันแบบยั่งยืน ลุยจดลิขสิทธิ์เทศกาลแรกในประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2566 สมาคมเพอรานากันประเทศไทย ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต TCEB ททท. สมาคม TIEFA ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต และองค์กรอื่นๆ กว่า 20 องค์กรร่วมกันจัดงาน Phuket Peranakan Festival 2023 โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิด ร่วมด้วย นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นางอัญชลี วานิช เทพบุตร กรรมการและนายกก่อตั้งสมาคมเพอรานากันประเทศไทย นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ก่อนที่จะเดินนำขบวนเพอรานากัน คาร์นิวัล 20 ขบวน ไปตามถนนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร โดยมีชาวภูเก็ตแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง บาบ๋า ย่าหยา เข้าร่วมขบวนเป็นจำนวนมาก
สำหรับการจัดงาน Phuket Peranakan Festival 2023 นั้น กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย.2566 วันนี้ (24 มิ.ย.) จัดให้มีขบวนแห่ Extravanganza Carnival จำนวน 20 ขบวน เพื่อสร้างแม่เหล็กงานเทศกาลเชิงเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเน้นเชิญชวนชาวภูเก็ตท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวไทยและเทศร่วมแต่งชุดพื้นเมืองเข้าร่วมงาน ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ปั้นสู่การเป็นเทศกาลศิลปวัฒนธรรมระดับนานาชาติประจำปีแบบยั่งยืนในอนาคต
ผู้ร่วมขบวนแห่ Extravanganza Carnival 20 ขบวน กว่า 1,000 ชีวิตร่วมขบวน สร้างสื่อกิจกรรมมวลชนครั้งยิ่งใหญ่ดึงรากเหง้ามาเล่าเรื่องอดีตเมืองภูเก็ต การเชื่อมโยงทางด้านวัฒนธรรม การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจจากอดีตสู่ปัจจุบัน วิถีความเป็นอยู่แบบเพอรานากัน มาร้อยเรื่องราวส่งต่อผ่านคนรุ่นใหม่ ด้วยหลากหลายมิติที่เชื่อมจากการนำแนวทางอนุรักษ์พิธีวิวาห์บาบ๋า ย่าหยา สู่เพอรานากันแบบสากล และการประยุกต์เชิงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงนวัตกรรมสื่อ
งานเทศกาลครั้งนี้ ได้รณรงค์การใส่ชุดเดรสพื้นเมือง บาบ๋า ย่าหยา ในรูปแบบแฟชั่นร่วมสมัยจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่แท้จริงที่จะเป็นภาพสื่อนวัตกรรมเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงศิลปะแบบ inter-active ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมรายวันและทั้งปี กับพื้นที่เมืองเก่าภูเก็ต ชุมชนเมืองเก่าร้านค้าต่างๆ ในเมืองเก่าภูเก็ตและรอบข้าง นำพาให้เกิดระบบเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่ม หรือ New Eco System ในชุมชน การซื้อหรือเช่าชุด Dress เพื่อการถ่ายภาพ, การคิดค้นผลิตของที่ระลึกแบบลิขสิทธิ์, การพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (packaging) ขนมโบราณแนวสากล, การถ่ายภาพเชิงสัญลักษณ์กับจุด Check in ด้วยเดรสแนวเพอรานากัน การแสดงร่วมสมัยต่างๆ และแนวคิดต่างๆ อีกมากมาย
สู่เป้าหมายความยั่งยืนจากเทศกาลที่เรียกว่า Legacy ที่จัดขึ้นครั้งนี้ และจะเป็นเครื่องมือที่บ่งบอก DNA ที่ชัดเจนของเมืองภูเก็ตมากขึ้น และพร้อมจะเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมเพอรานากันในคาบสมุทรมลายูจากนี้ไป เพราะหนึ่งในยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยว คือการสร้างมิตรภาพให้เกิดกับเมืองรอบข้าง ประเทศรอบข้าง ในแนวคิด Peranakan’s Family จึงได้หยิบยกมาสอดแทรกในขบวนแห่ร่วมสมัยครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นชุดพิธีแต่งงาน peranakan ของชาวมาเลเซีย ที่สืบทอดมากว่า 150 ปี หรือการแสดง performance art – ของชาวเพอรานากันร่วมสมัยจากประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้นเทศกาลต้นแบบ Phuket Peranakan Festival ครั้งนี้ ถือเป็น “ก้าวแรก” สู่ความยั่งยืนทางศิลปวัฒนธรรมที่สอดแทรกเรื่อง well being และ wellness จนทำให้การเจริญเติบโตทุกๆ ด้านที่ปรากฏขึ้น ทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ สามารถใช้วิถีชีวิตอยู่ร่วมกันแบบสร้างสรรค์และยั่งยืน
เทศกาลต้นแบบ Phuket Peranakan Festival ครั้งแรกในปีนี้มีกิจกรรมต่อเนื่อง 3 วัน เพื่อให้การขยายผลสื่อของกิจกรรมในครั้งนี้ สามารถสร้าง contents ได้ต่อเนื่องและหลากหลาย เปิดงานเทศกาลแบบ Soft program โดยวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน นี้ เวลา 16:00 น. จะเป็นกิจกรรม workshop การแต่งชุด Dress พิธีแต่งงานโบราณจากประเทศมาเลเซีย ที่ร้าน WOO Gallery & Boutique Hotel ย่านถนนถลาง และเวลา 18:00 น การแสดงร่วมสมัยของนักแสดงเพอรานากันภูเก็ตคนรุ่นใหม่จาก PIDA, Sound Gallery ณ แยกธนาคารสแตนดาร์ด
ต่อเนื่องในวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน เวลาตั้งแต่ 17:30 น ถึง 19:30 น ขบวนแห่ร่วมสมัยประวัติศาสตร์ Extravanganza Carnival 20 ขบวน เป็นการรวมพลังขบวนแห่ของแนวอนุรักษ์เพอรานากันเชื่อมสู่คนรุ่นใหม่ เล่าเรื่องความเป็นมาของเพอรานากันในเมืองภูเก็ต พร้อมเหล่าบรรดา celebrities และ influencers ระดับประเทศร่วมงานคับคั่งกว่า 1,000 คน ตั้งแต่ลานมังกร สู่แยกธนาคารสแตนดาร์ด เข้าสู่ถนนพังงา เข้าสู่ถนนเยาวราชและเลี้ยวเข้า Finale ที่ถนนถลาง ระยะทาง 1 กม และHighlight การเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ด้วยการเต้นรำกับเพลง RASA SAYANG ต้นฉบับใหม่ของภูเก็ตโดย Sound Gallery ทั้งผู้เข้าร่วมขบวนแห่และนักท่องเที่ยวหลายพันคนต่างร่วมกิจกรรมยิ่งใหญ่ครั้งนี้
และส่งท้ายวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป พบกับการแสดง Indonesia Peranakan Dance แนว performance art จากประเทศอินโดนีเซีย พร้อมการแสดงร่วมของคนรุ่นใหม่จากเมืองภูเก็ต ณ พื้นที่หลาดใหญ่ ถนนถลาง รวมงานกิจกรรมในงานเทศกาลครั้งนี้ 3 วัน
และวันนี้คือก้าวแรก ก้าวสำคัญของงานเทศกาล Phuket Peranakan Festival ที่จะมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างเมืองภูเก็ตให้เป็นเมืองแห่งเทศกาลในระดับนานาชาติ และระดับโลกในอนาคต นับตั้งแต่วินาทีที่ภาพประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในงานเทศกาลครั้งนี้ จะได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และส่งต่อเชื่อมต่อไปยังรุ่นต่อรุ่น พร้อมทั้งการเข้าสู่กระบวนการจดลิขสิทธิ์งานเทศกาลเพื่อที่จะบรรจุให้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด ปฏิทินงานเทศกาลประจำปีในประเทศ และในปฏิทินโลกต่อไป
ติดตามและร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับงานเทศกาล Phuket Peranakan Festival และขบวนแห่ร่วมสมัย Extravanganza Carnival ต่อไป ฝากกดไลค์ กดแชร์ พร้อมเสนอแนวคิดต่อยอดต่างๆร่วมกันในฐานะมรดกของเมืองภูเก็ต และมรดกของประเทศไทย
เตรียมปักหมุดลงปฏิทินกับงานเทศกาล Phuket Peranakan Festival ครั้งใหม่ในปีหน้า เดือนมิถุนายน 2024.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/