สำนักงาน กกพ. เผยข่าวดี ค่าไฟงวดใหม่เดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ มีแนวโน้มลดลงอย่างน้อย 20 สต.ต่อหน่วย เหตุยังต้องใช้หนี้ กฟผ. หากจะลดมากกว่านี้ ต้องรอบอร์ด กกพ.เคาะขั้นสุดท้ายภายในเดือน ก.ค.นี้ ขณะที่เอกชนสวนลดได้มากกว่า 50 สต.ต่อหน่วย
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า จากการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ในเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ มีแนวโน้มว่าจะลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 20 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วยจากปัจจุบัน ค่าไฟเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.70 บาท ต่อหน่วย แต่จะลดได้มากกว่านี้อีกหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) กกพ.ที่จะสรุปขั้นสุดท้ายภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนต่อไป
“ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลง มาจากราคาก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ลดลง ขณะเดียวกัน ค่าไฟฟ้าดังกล่าวได้ผนวกรวมการใช้หนี้คืนให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวม 20,000 ล้านบาทต่องวด จากการที่ กฟผ.รับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าให้แก่ระบบ เพื่อชะลอการกระชากขึ้นของค่าไฟฟ้าในงวดที่ผ่านๆมารวม 130,000 ล้านบาทไปก่อนหน้านี้แล้ว”
สำหรับข้อมูลประมาณการคำนวณค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ที่ กกพ.ได้รับจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยราคาแอลเอ็นจีตลาดจร เฉลี่ยอยู่ที่ 13.295 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ทำให้ราคาที่นำมาเป็นราคาคำนวณรวมระหว่างก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย, เมียนมา และราคาแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 343 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณ (จี1/61) มีการผลิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้น คาดว่าเดือน ก.ค.นี้ จะมีกำลังผลิตที่ 400 ล้านลูกบาศก์ (ลบ.) ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันที่ระดับ 200 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน และในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 588 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย มีปริมาณหน่วยเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยว และต้องพิจารณาถึงค่าเงินบาทด้วย โดยการอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 34.79 บาท/เหรียญฯ มีผลอาจทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
“ผมกังวลว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 ที่แนวโน้มราคานำเข้าแอลเอ็นจีจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มสภาพอากาศของสหภาพยุโรป อาจส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้างวดถัดไป หรืองวดเดือน พ.ค.-ส.ค.67 เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปีหน้าจะต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยหรือไม่ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับราคาแอลเอ็นจีด้วยว่าจะลดลงหรือไม่ เพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และเมียนมา หากลดลง ก็จะทำให้ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งนำเข้าแอลเอ็นจี”
ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือค่าไฟฟ้างวดใหม่เดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ สำหรับกลุ่มเปราะบางจะยังมีส่วนลดสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300-500 หน่วยต่อเดือนอีกหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของ กกพ. เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะต้องพิจารณา และหากยังเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาล รอรัฐบาลชุดใหม่ รัฐบาลชุดนี้ก็สามารถเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้
สำหรับกรณีที่พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ว่า อยากเห็นค่าไฟฟ้าลดลงไม่ต่ำกว่า 70 สต.ต่อหน่วยนั้น ตนมองว่า หากจะดำเนินการตามนโยบาย ต้องปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ เพราะในอนาคตไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในส่วนนี้มากขึ้น
ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการดูต้นทุนราคาเชื้อเพลิงและการใช้หนี้ กฟผ.แล้ว ค่าไฟฟ้าน่าจะลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 50 สต.ต่อหน่วย จากปัจจุบันเฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย เพราะราคาแอลเอ็นจีลดลงจากกว่า 20 เหรียญฯต่อล้านบีทียู เหลือ 11 เหรียญฯต่อล้านบียู
ดังนั้น หากจะลดแค่ 20 สต.ต่อหน่วย จะดูน่าเกลียด ส่วนการลดค่าไฟฟ้าตามแนวคิดพรรคก้าวไกล มองว่า พรรคมีแนวคิดจะออกพันธบัตรรัฐบาลมาเสริมสภาพคล่องให้ กฟผ. ซึ่งส่วนตัวสนับสนุน เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำลง.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/