ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่เลวร้าย ไม่ใช่แค่กับตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ยังรวมไปถึงตลาดคริปโตเคอร์เรนซีด้วย ตลาดการเงินทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปิดเผยตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน สู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ข้อมูลนี้สอดคล้องกับ Sahm Rule ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดย Sahm Rule ระบุว่าเมื่อค่าเฉลี่ยของอัตราการว่างงานในรอบ 3 เดือนเพิ่มขึ้นเกิน 0.5% เมื่อเทียบกับค่าต่ำสุดในรอบปี จะถือเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเช่น หุ้น เพื่อถือครองเงินสด
ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.25% จากเดิม 0 ถึง 0.1% ส่งผลให้ตลาด Nikkei ปิดลบถึง 4,451 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1987 การขึ้นดอกเบี้ยนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนจำนวนมากที่กู้เงินญี่ปุ่นดอกเบี้ยต่ำมาลงทุน ทำให้ต้องขายสินทรัพย์ทิ้งเพื่อลดภาระดอกเบี้ย
ในส่วนของตลาดคริปโตฯ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบคือการเทขายของ Jump Trading ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในการทำ Algorithmic Trading และ High Frequency Trading โดยได้เทขาย Ethereum มูลค่ากว่า 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจาก CEO ลาออก และมีการตรวจสอบจากหน่วยกำกับดูแลสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสหรัฐฯ (CFTC) การเทขายครั้งนี้ส่งผลให้ราคาของ Ethereum ร่วงลงกว่า 30% มีการคาดการณ์ถึงสาเหตุของการเทขายสองประการ คือ
1.Jump Trading อาจกำลังถอนตัวจากตลาดคริปโตฯ หลังจากเหตุการณ์ภายในบริษัท
2.Jump Trading อาจมีการกู้ยืมเงินเยนจำนวนมากเพื่อใช้ในการทำ High Frequency Trading และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นทำให้ต้องขายสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบวกบางประการในตลาดคริปโตฯ โดยเฉพาะจากกองทุน ETFs ของ Ethereum ในวันที่ 5 สิงหาคม มีเงินไหลเข้าสุทธิเป็นบวกที่ 48.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดย BlackRock ที่มีแรงซื้อสุทธิถึง 47.10 ล้านดอลลาร์ แม้ในสภาวะตลาดที่ผันผวน ในขณะที่กองทุน ETHE ของ Grayscale มีเงินไหลออกสุทธิ 46.80 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่มีการอนุญาตให้มีกองทุน ETFs สำหรับ Bitcoin ETFs แม้จะมีปริมาณเงินไหลออกรวมเป็นลบ แต่กองทุนของ BlackRock ก็ยังมีปริมาณการซื้อสุทธิเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง
ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน ผู้ร่วมก่อตั้ง FWX แพลตฟอร์มเทรดอนุพันธ์ไร้ศูนย์กลาง และอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า “ในวันที่ประกาศตัวเลขอัตราการว่างงาน มีหลายคนทางฝั่งทางคริปโตฯ บอกว่าการที่สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่สภาวะถดถอยย่อมเป็นผลดีต่อสินทรัพย์ทางเลือกอย่างคริปโตฯ แต่ในความเป็นจริงตอนนี้ ภูมิทัศน์ของการลงทุนฝั่งคริปโตฯ เปลี่ยนไปแล้ว มีนักลงทุนในโลกการเงินดั้งเดิมจำนวนมากเข้ามาลงทุนในคริปโตฯ ทั้งผ่าน และไม่ผ่าน ETFs การที่สภาวะเศรษฐกิจเป็นลบ ราคาหุ้น และสินทรัพย์ดั้งเดิม ร่วงลงอย่างหนัก ย่อมทำให้นักลงทุนต้องขายสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเก็บเงินสด สร้างสภาพคล่อง คริปโตฯ เองที่ทางนักลงทุนในโลกดั้งเดิมมองว่าเป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูงก็คงไม่พ้นถูกผลกระทบนี้ด้วยเหมือนกัน”
“หลังจากนี้ นักลงทุนคริปโตฯ จำเป็นต้องจับตาตัวเลขทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่มากขึ้น ทั้งเรื่องของอัตราดอกเบี้ย และนโยบายในการกระตุ้นและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เพราะปัจจัยเหล่านี้ได้กลายมาเป็นปัจจัยหลักในการเคลื่อนไหวของราคาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว”
เมื่อถามถึงมุมมองต่อการเทขายของ Jump Trading ดร.อุดมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า “มองว่าการเทขายของ Jump Trading ถือเป็นปัจจัยลบระยะสั้นเนื่องจากมี Ethereum เหลืออยู่อีกแค่ 100 กว่าล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะการเคลื่อนไหวของผู้เล่นรายใหญ่เช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดในระยะสั้นได้”
“แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะดูเลวร้าย แต่ปัจจัยเฉพาะของตลาดคริปโตฯ ทุกวันนี้ยังนับว่ามีปัจจัยลบน้อยมาก หากตัวเลขทางเศรษฐกิจยังทรงตัวหรือดีขึ้น เราอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวของตลาดคริปโตฯ อย่างรวดเร็วได้อีกครั้ง” ดร.อุดมศักดิ์ สรุป
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/