“กรมทะเลชายฝั่ง” ประชุมเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการ “ปลูกป่าชายเลน” เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต พร้อมงานด้านป่าชายเลนทุกมิติให้แก่หน่วยงานในสังกัด
วันที่ 2 เม.ย. 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เผยว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) และพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol : KP) เมื่อปี พ.ศ.2537 และ พ.ศ.2545 ตามลำดับ ซึ่งการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งก้าวหนึ่งของไทย เนื่องจากได้ตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่จะรักษาโลกนี้ไว้ให้กับลูกหลาน เจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ
สำหรับในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ได้กล่าวถ้อยแถลงยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมที่จะยกระดับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ.2065 รวมถึงการยกระดับ Nationally Determined Contributions : NDCs หรือการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศกำหนด จากร้อยละ 20-25 ให้ถึงร้อยละ 40
ทางด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรับมือและแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย พร้อมทั้งตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ เห็นได้จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่ได้ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ตั้งแต่ปี 2557 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ ซึ่งเป็นกลไกในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ
นายอภิชัย เอกวนากุล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อน รวมถึงการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยได้ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน 300,000 ไร่ ภายใน 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไป และได้ออกระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอก และสำหรับชุมชน
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มอบหมายให้กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” สำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชนขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย. 2566 โดยมีเจ้าหน้าที่กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ผู้อำนวยการศูนย์บริหารฯ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการทรัพยากรป่าชายเลน ในสังกัดสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 ผู้อำนวยการส่วนฯ ข้าราชการในสังกัดกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมจำนวน 100 คน ณ ห้องประชุมโรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดาดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
สำหรับการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 ในการจัดทำโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน และโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอก อีกทั้งซักซ้อมกรอบแนวทางการจัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตทั้ง 2 ลักษณะ รวมถึงติดตามภารกิจงานด้านป่าชายเลน สรุปปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานและเสนอแนวทางแก้ไข และร่วมกำหนดการขับเคลื่อนแผนงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดต่อไป.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/