โคลอมเบียดัดแปลงยุงลาย สร้างเกราะป้องกันต้านไข้เลือดออก

โคลอมเบียดัดแปลงยุงลาย สร้างเกราะป้องกันต้านไข้เลือดออก

ที่ห้องทดลองในเมืองเมเดยิน ของโคลอมเบีย นักวิทยาศาสตร์กำลังทำการทดลองสุดทะเยอทะยาน เพื่อต่อสู้กับโรคไข้เลือดออก ด้วยวิธีดัดแปลงเชิงชีวภาพ

เกือบทศวรรษที่ผ่านมา โครงการยุงโลก (WMP) พยายามแทนที่ประชากรยุงลายบ้านท้องถิ่น ด้วยยุงสายพันธุ์เดียวกันที่ผ่านการดัดแปลงเชิงชีววิทยา เพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อไข้เลือดออก หรือ เด็งกี ซึ่งในปีนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนแล้วอย่างน้อย 4,500 ศพ

แทนที่จะใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ในการกำราบยุงลาย นักวิทยาศาสตร์จะใช้เทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อทำให้แบคทีเรียที่ยังมีชีวิตในยุงลาย สามารถแพร่กระจายไปยังยุงลายตัวอื่นๆ แล้วยังมีชีวิตอยู่ได้

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก บิล เกตส์ หนึ่งในมหาเศรษฐีชื่อก้องโลก ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายของทฤษฎีสมคบคิด และโครงการนี้ก็ไม่ได้รับการยกเว้น มีข่าวลือมากมาย บ้างก็ว่ายุงที่ปล่อยออกไปนี้ฝังชิปควบคุมจิตใจของบิล เกตส์ หรือยุงนี้ทำให้คนเป็นเกย์ หรือทำให้ติดโรคที่ร้ายแรงกว่า

แต่จริงๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์กำลังใส่แบคทีเรียชื่อว่า “วูลบัคเคีย” ซึ่งตามปกติจะพบในแมลงและยุงสายพันธุ์อื่น ลงไปในยุงลาย ให้กระจายไปสู่ธรรมชาติเพื่อจุดประสงค์ 2 อย่าง คือ เพิ่มภูมิคุ้มกันของยุงลาย ทำให้มันติดเชื้อเด็งกีได้ยากขึ้น และ 2 คือ หากยุงลายติดเชื้อ วูลบัคเคียจะทำให้ไวรัสไข้เลือดออกเติบโตในตัวยุงและส่งเชื้อสู่มนุษย์ได้ยากขึ้น

ดร.เนลสัน กรีซาเลส ผอ.ฝ่ายบังคับใช้มาตรการของโครงการยุงโลก ระบุว่า “เทคโนโลยีนี้ออกแบบมาเพื่อให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิต ซึ่งกรณีนี้คือยุงลาย สามารถแพร่กระจายโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ได้”

“แม้ว่าจะมีการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ มากมาย แต่เรามีเครื่องมือและหลักฐานทุกอย่างเพื่อพิสูจน์และตอบโต้เรื่องพวกนี้”

นักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า นี่คือการดัดแปลงเชิงชีววิทยาด้วยแบคทีเรีย ไม่ใช่การดัดแปลงทางพันธุกรรม และมันก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าจับตามองในจังหวัดอันติโอกัว ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโคลอมเบีย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงถึง 95%

ด้วยวิธีการนี้ ผู้คนจะยังคงต้องทนกับความน่ารำคาญของการถูกยุงกัด แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดเชื้อเด็งกีเหมือนแต่ก่อน

ดร.เบียทริซ กีราลโด นักชีววิทยาของโครงการยุงโลก กล่าวว่า “ยุงที่มีวูลบัคเคียคือยุงที่มอบการคุ้มครองในระดับหนึ่งแก่ชุมชน เพราะวูลบัคเคียสร้างเกราะในตัวยุงเหล่านี้ ซึ่งป้องกันการส่งต่อไวรัสเด็งกี”

การทดลองของโครงการยุงโลกนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคลาตินอเมริกาก็เพิ่งเผชิญการระบาดรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไปเมื่อช่วงต้นปี 2567 โดยมีสาเหตุจากอากาศที่ร้อนชื้นมาก เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ

ด้านกระทรวงสาธารณสุขของสหภาพยุโรป ก็เริ่มเตือนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อเด็งกีในยุโรปเช่นกัน เนื่องจากอากาศที่ร้อนขึ้น สร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมให้ยุงลายขยายพันธุ์

ในโคลอมเบีย ยุงลายที่ผ่านการดัดแปลงถูกนำไปปล่อยในพื้นที่ที่การระบาดหนักที่สุด ซึ่งก็คือเมืองเมเดยิน เป็นครั้งแรกในปี 2558 จากนั้นจึงนำไปปล่อยที่เมืองคาลี ในปี 2562 ให้มันขยายพันธุ์ในธรรมชาติ ค่อยๆ แทนที่ประชากรยุงดั้งเดิม

น.ส.อัลเบนซี โอรอซโก ผู้นำชุมชนท้องถิ่นเผยว่า “ตอนแรกหลายคนไม่ชอบผลกระทบในตอนแรกของการปล่อยยุงพวกนี้ แต่การจัดการที่ตามมากับการอธิบายอย่างเหมาะสม พวกเขาก็เริ่มยอมรับได้”

ด้าน น.ส.แพทริเซีย ชิกา ชาวบ้านท้องถิ่นในเมืองเมเดยิน ระบุว่า “พวกเขาอธิบายให้เราฟังว่ามันดีอย่างไร และถามเราว่าอนุญาตให้พวกเขาวางกับดักที่นี่ได้ไหม เพราะมันจะดีต่อทั้งเราและชุมชน”

การทดลองเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียกับบราซิล และจะเริ่มบังคับใช้ในเอลซัลวาดอร์ในอีกไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงการนี้ยังคงอยู่ในระดับการทดลองของสถาบันเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากทางการท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่ามันจะกลายเป็นนโยบายสาธารณะในเร็วๆ นี้

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,495 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *