เหตุนองเลือดโจมตีเลบานอนด้วยเพจเจอร์ และอุปกรณ์สื่อสารอิเลกทรอนิกของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ที่คร่าชีวิตประชาชนจำนวนมาก และฮิซบอลเลาะห์โทษว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล เป็นเพียงการโจมตีครั้งล่าสุดในสมรภูมิรบยาวนานหลายทศวรรษ
จากเหตุนองเลือดโจมตีที่เลบานอน อุปกรณ์เพจเจอร์ และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆเกิดการระเบิด มีผู้เสียชีวิตรวม 34 ศพ บาดเจ็บเกือบ 3,000 ราย ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน ซึ่งได้ออกมากล่าวหาว่าอิสราเอลเป็นผู้ก่อเหตุโจมตี แต่เหตุการณ์นี้เป็นเพียงการโจมตีครั้งล่าสุดในสมรภูมิรบยาวนานหลายทศวรรษ
โดยในช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มนักรบฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนได้ทำการโจมตีโต้ตอบอิสราเอล บริเวณชายแดนทางตอนใต้ของเลบานอน เพื่อตอบโต้อิสราเอลไม่ให้ทำสงครามในฉนวนกาซา นับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดเหตุการณ์กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลในฉนวนกาซา
อิสราเอลได้ตอบโต้ฮิซบอลเลาะห์ด้วยการยิงขีปนาวุธถล่ม และยกระดับความรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มนักรบที่มีประสบการณ์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาค มีอาวุธครบมือและผ่านการรบมาอย่างหนัก ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว
1982 ปีแห่งการรุกรานและการจัดตั้ง
อิสราเอลบุกเลบานอนในเดือนมิถุนายน 1982 โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้การโจมตีที่องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization-PLO) เปิดฉากโจมตีเลบานอนจากพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งเป็นการจุดชนวนสงครามกลางเมืองในเลบานอนให้ยืดเยื้อยาวนานต่อมาอีกถึง 7 ปี
อิสราเอลหวังว่าจะจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นมิตรในเลบานอน จึงเข้ายึดครองพื้นที่ทางใต้ ไปไกลถึงฝั่งตะวันตกของเบรุต ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่ม PLO และปิดล้อมเลบานอน
หลังจากมีการบรรลุข้อตกลง กลุ่ม PLO ก็ล่าถอยไปยังตูนิเซีย แต่กองทัพอิสราเอลยังคงอยู่ในเลบานอน โดยทำสงครามตัวแทน ให้การสนับสนุนกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ในสงครามกลางเมือง โดยมีส่วนสนับสนุนการสังหารหมู่ที่ซาบรา และชาติลา ขณะที่กองกำลังติดอาวุธฝ่ายขวาของเลบานอนร่วมกับกองทัพอิสราเอลได้สังหารผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์และพลเรือนเลบานอนไประหว่าง 2,000-3,500 ศพในช่วงเวลาเพียง 2 วัน
เหตุการณ์นี้เป็นการจุดชนวนการรวมตัวของชาวเลบานอนหลายกลุ่มและมีการการก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธขึ้นเพื่อต่อต้านการรุกรานของอิสราเอล โดยกลุ่มหนึ่งคือ ฮิซบอลเลาะห์ ที่มาจากชุมชนมุสลิมชีอะห์ ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน และมีเป้าหมายในการขับไล่อิสราเอล และต่อมาไม่นานฮิซบอลเลาะห์กลายเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากในเลบานอน
1983 ปีแห่งการโจมตี
ระหว่างปี 1982-1986 กลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มก่อเหตุโจมตีกองกำลังทหารต่างชาติในเลบานอน และต่างฝ่ายต่างออกมาอ้างความรับผิดชอบ และเชื่อว่าหลายครั้งเป็นฝีมือของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1983 เกิดเหตุระเบิดอาคารในค่ายทหารหลายแห่งของกรุงเบรุต ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพชาวฝรั่งเศสและอเมริกันเสียชีวิตมากกว่า 300 ศพ หลังเกิดเหตุทางกลุ่มญีฮัด อิสลาม ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นนักรบแนวหน้าของฮิซบอลเลาะห์ออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดครั้งนี้
หลังจากนั้นมากลุ่มฮิซบอลเลาะห์เติบโตขึ้นจนถึงจุดที่ดมื่อร่วมกับกลุ่มพันธมิตรแล้วสามารถกดดันกองทัพอิสราเอลให้ถอนทัพไปยังแม่น้ำลิตานี ทางตอนใต้ของเลบานอนในการสู้รบเมื่อปี 1985 ทำให้อิสราเอลประกาศพื้นที่ “เขตปลอดภัย” ตามแนวชายแดนเลบานอน-อิสราเอล พร้อมผลักดันกองกำลังชาวคริสต์ กองทัพเลบานอนใต้ (South Lebanon Army-SLA) ควบคุมพื้นที่และเป็นกองกำลังตัวแทนของอิสราเอลในการยึดครองพื้นที่ตอนใต้ของเลบานอน จนกระทั่งอิสราเอลถอนทัพออกไปในปี 2000
หลังจากสงครามกลางเมืองในเลบานอนสิ้นสุดลง ฮิซบอลเลาะห์ได้เข้าสู่การเมืองระบอบรัฐสภา โดยชนะการเลือกตั้งไป 8 ที่นั่ง จากที่นั่งในรัฐสภาเลบานอนทั้งหมด 128 ที่นั่ง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนขณะนี้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์และพันธมิตรมี 62 ที่นั่งในรัฐสภา
1993 สงครามเจ็ดวัน
ในเดือนกรกฎาคม 1993 อิสราเอลโจมตีเลบานอนในเหตุการณ์ที่เรียกว่า Operation Accountability ส่วนทางฝั่งเลบานอนเรียกว่า “สงครามเจ็ดวัน” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์โจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอล ตอบโต้การโจมตีของอิสราเอลในค่ายผู้ลี้ภัยและหมู่บ้านในเลบานอน สงครามครั้งนี้คร่าชีวิตพลเรือนชาวเลบานอนไป 118 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 500 ราย และอาคารบ้านเรือนถูกทำลายนับพันหลัง
ขณะที่อีก 3 ปีต่อมา อิสราเอลได้เปิดฉากปฏิบัติการ Operation Grapes of Wrath โจมตีเลบานอนอีกครั้งเป็นเวลา 17 วัน เป้าหมายคือบังคับให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ถอยร่นไปไกลกว่าแม่น้ำลิตานี และพ้นระยะการโจมตีของอิสราเอล ทั้งสองฝ่ายมีการสูญเสียชีวิตทางทหารและพลเรือนจำนวนมาก และโครงสร้างพื้นฐานของเลบานอนได้รับความเสียหายอย่างหนัก
2006 สงครามเดือนกรกฎาคม
ในปฏิบัติการรุกเข้าไปในดินแดนอิสราเอลเมื่อปี 2006 ฮิซบอลเลาะห์ได้สังหารทหารอิสราเอล 3 นาย และจับกุมทหารอิสราเอล 2 นาย เป็นตัวประกัน พร้อมเรียกร้องอิสราเอลให้มีการแลกนักโทษ ในท้ายที่สุด 2 ปีต่อมา ศพของสองทหารอิสราเอลถูกส่งกลับเพื่อแลกกับนักโทษชาวเลบานอน 5 คน
นับเป็ฌนชนวนเหตุของสงครามเดือนกรกฎาคมที่กินเวลานานถึง 34 วัน ชาวเลบานอนเสียชีวิตประมาณ 1,200 ศพ และบาดเจ็บอีก 4,400 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ขณะเดียวกัน อิสราเอลระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 158 ศพ ส่วนใหญ่เป็นทหาร
2023-2024 สงครามในฉนวนกาซ่า
ในเดือนตุลาคม 2023 ฮิซบิลเลาะห์ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลด้วยจรวดเพื่อสนับสนุนกลุ่มฮามาส ในฉนวนกาซา ซึ่งกำลังถูกอิสราเอลโจมตีอย่างหนัก หลังจากที่ฮามาสนำกองกำลังติดอาวุธฮามาสโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,139 ศพ และถูกจับเป็นตัวประกันประมาณ 250 ราย อิสราเอลจึงยิงตอบโต้
ผลกระทบของสงครามครั้งนี้ทำให้มีชาวเลบานอน 97,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน มีผู้เสียชีวิต 566 ศพ ขณะที่ประชาชนชาวอิสราเอลต้องอพยพออกจากพื้นที่ชายแดนทางตอนเหนือของอิสราเอล ประมาณ 60,000 คน.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/