ฮือฮา นักวิทย์ค้นพบหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่เคยมีมา ชี้ความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตต่างดาว

ฮือฮา นักวิทย์ค้นพบหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่เคยมีมา ชี้ความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตต่างดาว

นักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ตรวจพบสิ่งที่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด ชี้ความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจักรวาล

นักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ตรวจพบร่องรอยทางเคมีของก๊าซในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่างดาว ซึ่งก๊าซเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากกระบวนการทางชีวภาพเท่านั้น ซึ่งนับเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมา ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

โดยก๊าซทั้งสองชนิดคือ ไดเมทิลซัลไฟด์ (DMS) และ ไดเมทิลไดซัลไฟด์ (DMDS) ซึ่งตรวจพบจากดาวเคราะห์ที่ชื่อว่า K2-18 b และเป็นก๊าซที่บนโลกมักผลิตโดยสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแพลงก์ตอนพืชในทะเล

นักวิจัยกล่าวว่า การพบก๊าซเหล่านี้ชี้ว่าดาว K2-18 b อาจมีสิ่งมีชีวิตจุลชีพอยู่มาก อย่างไรก็ตาม พวกเขาเน้นว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพบสิ่งมีชีวิตจริง แต่เป็นเพียงสัญญาณทางชีวภาพ หรือร่องรอยที่บ่งชี้ถึงกระบวนการทางชีววิทยา และยังต้องศึกษาต่อไปอย่างรอบคอบ

ศาสตราจารย์นิกกุ มัธุสุทัน นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะ โดยแสดงให้เห็นว่า การตรวจจับสัญญาณชีวภาพบนดาวเคราะห์ที่อาจอยู่อาศัยได้ สามารถทำได้ด้วยเครื่องมือในปัจจุบัน และนี่คือการเข้าสู่ยุคใหม่ของวิชาชีวดาราศาสตร์เชิงสังเกต โดยปัจจุบันมีความพยายามมากมายในการค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะ เช่น บนดาวอังคาร ดาวศุกร์ หรือบนดวงจันทร์น้ำแข็งต่าง ๆ

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับดาว K2-18 b มัธุสุทันกล่าวว่า จนถึงตอนนี้ ข้อมูลทั้งหมดที่กล้องเวบบ์ให้มา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ชี้ว่า K2-18 b อาจเป็นดาวเคราะห์แบบไฮเซียนที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องเปิดรับความเป็นไปได้อื่น ๆ เช่นกัน

โดยพบว่าดาวเคราะห์นี้มีมวลมากกว่าโลกประมาณ 8.6 เท่า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าโลกประมาณ 2.6 เท่า โคจรอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยได้ ของดาวฤกษ์ชนิดแคระแดง อยู่ห่างจากโลกประมาณ 124 ปีแสง ในกลุ่มดาวสิงโต

ดาวดวงนี้จัดอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์ที่เรียกว่า “Hycean world” ซึ่งเป็นดาวที่อาจมีมหาสมุทรของน้ำอยู่ทั่วพื้นผิวและชั้นบรรยากาศอุดมด้วยไฮโดรเจน เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว

กล้องเวบบ์ก่อนหน้านี้ได้ตรวจพบมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของ K2-18 b ซึ่งถือเป็นการพบโมเลกุลพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตในดาวเคราะห์ที่อยู่ในเขตที่อยู่อาศัยได้เป็นครั้งแรก

ด้านคริสโตเฟอร์ กลีน จากสถาบัน Southwest Research Institute ระบุว่า K2-18 b เป็นดาวเคราะห์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก แต่ยังต้องทดสอบข้อมูลให้ละเอียดที่สุด และยังต้องรอการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากนักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่น ๆ เช่นเดียวกับมัธุสุทันที่ยอมรับว่า ยังต้องทำการสังเกตเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง และต้องศึกษาว่ามีกระบวนการทางธรรมชาติอื่น ๆ ที่อาจผลิตก๊าซเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่.

ที่มา : channelnewsasia

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

4,258 Posts

View All Posts
Follow Me :

You May Have Missed