เกิดเหตุการณ์สาหร่ายพิษระบาดในระดับรุนแรงนอกชายฝั่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ส่งผลให้สัตว์ทะเลมากกว่า 200 สายพันธุ์ ตายลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักอนุรักษ์เปรียบเทียบสถานการณ์ว่า เหมือนหนังสยองขวัญสำหรับปลา
ปรากฏการณ์สาหร่ายเป็นพิษหรือการเพิ่มจำนวนของสาหร่ายในระบบนิเวศน้ำอย่างรวดเร็ว ได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม และยังคงลุกลามจนมีขนาดกว่า 4,500 ตารางกิโลเมตร โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สาหร่ายชนิดนี้ปล่อยสารพิษที่ทำงานเหมือนผ้าห่มพิษที่ห่อหุ้มจนสัตว์ทะเลหายใจไม่ออก ซึ่งส่งผลต่อสัตว์น้ำหลากหลายชนิด เช่น ปลา กระเบน และฉลาม จนทำให้สัตว์ทะเลล้มตายจำนวนมาก
ดร.วาเนสซา พิโรตตา นักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ป่า กล่าวว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะสาหร่ายยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แบรด มาร์ติน ผู้จัดการโครงการประจำรัฐขององค์กรไม่แสวงหากำไร OzFish ซึ่งทำงานด้านการอนุรักษ์แหล่งประมง กล่าวว่า แม้การเกิด Algal Bloom หรือสาหร่ายเป็นพิษจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การขยายวงที่ใหญ่ผิดปกติในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า สารพิษจากสาหร่ายสามารถทำลายเหงือกและเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดง และความหนาแน่นของสาหร่ายก็ยังทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างมาก จนทำให้ปลาขาดอากาศหายใจ เรื่องนี้จึงเหมือนหนังสยองขวัญสำหรับปลา
มีประชาชนที่ส่งภาพสัตว์ทะเลตายเกยฝั่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฉลามและกระเบนที่ลอยขึ้นชายหาดในสภาพสีแดงสด บ่งชี้ว่ามีอาการเลือดออกอย่างรุนแรง โดยหนึ่งในนั้นคือฉลามขาวขนาด 3 เมตรที่พบตายเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในบรรดาสัตว์ทะเลกว่า 200 ชนิดที่ได้รับผลกระทบ บางชนิดได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เช่น ปูและปลาปักเป้า ซึ่งมักอาศัยอยู่ตามแนวปะการังและเคลื่อนไหวได้น้อย จึงหนีสาหร่ายพิษไม่ทัน
แม้สาหร่ายนี้จะไม่ก่ออันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์ แต่การสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอหรือหายใจติดขัด รัฐบาลเซาท์ออสเตรเลีย จึงได้ออกคำแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในบริเวณที่มีน้ำเปลี่ยนสีหรือมีฟอง
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากสภาพอากาศร้อนและแดดจัด โดยพื้นที่ทางทะเลของรัฐเซาท์ออสเตรเลียมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 2.5 องศาเซลเซียส ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว และสภาพอากาศที่ร้อนผิดฤดูกาลตั้งแต่เดือนมีนาคมก็ยิ่งกระตุ้นให้การระบาดของสาหร่ายขยายตัวมากขึ้น
การระบาดครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อการประมงเชิงพาณิชย์บางพื้นที่ซึ่งต้องสั่งปิดล่วงหน้า รวมถึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชายฝั่งลดลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากสัตว์ทะเลจำนวนมากตายเกยชายหาด
ขณะนี้นักวิจัยและหน่วยงานของรัฐยังคงเฝ้าติดตามการเคลื่อนตัวของสาหร่ายซึ่งกำลังเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกต่อไป โดยเหตุการณ์สาหร่ายพิษครั้งใหญ่ในรัฐเซาท์ออสเตรเลียครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2014 ตามข้อมูลจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐ.
ที่มา : BBC
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/