คนงานรีดนมในรัฐมิชิแกนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดนก ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยรายที่สองที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไข้หวัดนกในโคนมของสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ และรัฐมิชิแกน แถลงเมื่อวันพุธว่า คนงานชายสัมผัสกับวัวในฟาร์มที่มีสัตว์ติดเชื้อ เขามีอาการที่ดวงตาเล็กน้อย และหายดีแล้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ระบุว่า ผลการสวอบจมูกจากบุคคลดังกล่าวเป็นลบ แต่ผลการสวอบตาเมื่อวันอังคาร มีผลเป็นบวก
พญ.นาตาชา บักดาซาเรียน หัวหน้าผู้บริหารทางการแพทย์ของรัฐมิชิแกน กล่าวว่า คนงานรายนี้เริ่มรู้สึกแปลกๆ ในดวงตาของเขาเมื่อต้นเดือนนี้ แต่เป็นกรณีที่ไม่รุนแรงมาก ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งเป็นยาสำหรับการรักษาโรคไข้หวัดนก
เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อสาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่คนงานในฟาร์มที่สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงกว่า และกล่าวว่าคนงานเหล่านั้นควรได้รับอุปกรณ์ป้องกัน โดยเฉพาะดวงตา เจ้าหน้าที่กล่าวว่าพวกเขาไม่ทราบว่าคนงานในฟาร์มรัฐมิชิแกนสวมแว่นตาป้องกันหรือไม่ และมีการสืบสวนเรื่องนี้อยู่
ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คนงานในฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐเทกซัสได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นผู้ป่วยรายแรกที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนกจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คนไข้แจ้งว่ามีเพียงอาการตาอักเสบและหายดีแล้ว
ตั้งแต่ปี 2563 ไวรัสไข้หวัดนกได้แพร่ระบาดในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว สกั๊งค์ หมี หรือแม้แต่แมวน้ำ และโลมา ในหลายประเทศ การตรวจพบไวรัสดังกล่าวกับปศุสัตว์ของสหรัฐฯ เมื่อต้นปีนี้ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร และว่าเชื้อดังกล่าวจะแพร่กระจายในมนุษย์ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การระบาดยังไม่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีรายงานการติดเชื้อในวัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ระบุว่า นับจนถึงวันพุธ (22 พ.ค.) ได้รับการยืนยันการพบเชื้อไวรัสในโคนม 51 ฝูงใน 9 รัฐ โดย 15 ฝูงอยู่ในรัฐมิชิแกน
ดร.นิราฟ ชาห์ จากซีดีซี กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถวินิจฉัยการติดเชื้อในคนงานที่ใกล้ชิดกับวัวที่ติดเชื้อได้มากขึ้น เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า ได้ทำการทดสอบผู้คนแล้ว 40 คนนับตั้งแต่พบกรณีวัวติดเชื้อกลุ่มแรกเมื่อปลายเดือนมีนาคม ส่วนรัฐมิชิแกนได้ทำการทดสอบแล้ว 35 คน
ไวรัสชนิดนี้ถูกพบในน้ำนมดิบของวัวที่ติดเชื้อในระดับสูง แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์พาสเจอร์ไรส์ที่จำหน่ายในร้านขายของชำมีความปลอดภัย เนื่องจากได้รับการยืนยันว่าใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อไวรัส
กรณีการติดเชื้อล่าสุดนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ในสหรัฐฯ ที่มีผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัส H5N1 ชนิด A โดยในปี 2565 นักโทษในเรือนจำติดเชื้อไวรัส ขณะฆ่านกที่ติดเชื้อในฟาร์มสัตว์ปีกในเขตมอนโทรส เคาน์ตี รัฐโคโลราโด โดยมีเพียงอาการเหนื่อยล้า และหายเป็นปกติ ที่เกิดขึ้นก่อนการพบไวรัสในวัว.
ที่มา AP
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/