ทรัมป์ซัดเดือดกับเซเลนสกีต่อหน้าสื่อ ไล่ผู้นำยูเครนและทีมงานออกจากทำเนียบขาว โดยที่เซเลนสกียังไม่ได้ลงนามข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์แร่ธาตุให้สหรัฐฯ ตอกหน้าว่ายูเครนไม่สำนึกบุญคุณ และยังทำตัวขวางสันติภาพ
วันที่ 1 มีนาคม 2568 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การพบหารือระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ที่ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดีซี กลายเป็นการปะทะคารมกันอย่างดุเดือดต่อหน้าสื่อมวลชน เมื่อทรัมป์และรองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ กล่าวตำหนิผู้นำยูเครนว่าไม่มีความสำนึกขอบคุณต่อความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ นำไปสู่การโต้เถียงกันอย่างรุนแรงจนทำให้การเจรจาต้องถูกยุติลงอย่างกะทันหัน และทำเนียบขาวสั่งให้คณะยูเครนออกจากห้องทันที
รายงานข่าวระบุว่าการหารือในห้องทำงานรูปไข่ ที่ทำเนียบขาว เดิมทีมีเป้าหมายเพื่อหาทางออกด้านความมั่นคงให้กับยูเครนและลงนามในข้อตกลงด้านแร่ธาตุที่หายากในยูเครน ที่จะต้องแบ่งผลประโยชน์ให้สหรัฐฯ เทียบเท่ามูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นค่าชดเชยสำหรับความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้แก่ยูเครน
แต่สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเมื่อรองประธานาธิบดีแวนซ์ กล่าวหาว่ายูเครนไม่ให้เกียรติและไม่เคยแสดงความสำนึกขอบคุณต่อการช่วยเหลือของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในช่วงสงครามที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี ทำให้นายเซเลนสกีตอบโต้ทันทีโดยระบุว่ายูเครนไม่สามารถประนีประนอมกับรัสเซียได้และเตือนว่าสงครามอาจส่งผลกระทบถึงสหรัฐฯ
สถานการณ์ยิ่งร้อนแรงขึ้นเมื่อทรัมป์กล่าวหาว่าเซเลนสกีกำลังเล่นเกมเสี่ยงกับสงครามโลกครั้งที่ 3 พร้อมประกาศกร้าวว่า ทำข้อตกลงแร่ธาตุให้ได้ ไม่อย่างนั้นสหรัฐฯ จะไม่ช่วยเหลือยูเครนอีกต่อไป ส่งผลให้บรรยากาศการประชุมเต็มไปด้วยเสียงตะโกนและการชี้นิ้วใส่กัน ขณะที่ฝ่ายยูเครนพยายามให้การหารือดำเนินต่อไป แต่ทรัมป์ตัดสินใจสั่งยุติการประชุมและให้เจ้าหน้าที่แจ้งให้คณะยูเครนออกจากห้องประชุม
โดยเดิมทีหลังจากการประชุม ทั้งสองผู้นำมีกำหนดแถลงข่าวร่วมในห้องอีสต์รูม ของทำเนียบขาว พร้อมลงนามในข้อตกลงด้านแร่ธาตุที่สหรัฐฯ ต้องการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจของยูเครน อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งโต้เถียงรุนแรง การแถลงข่าวได้ถูกยกเลิกทันที และเซเลนสกีเดินทางออกจากทำเนียบขาวโดยไม่มีการลงนามในข้อตกลงใดๆ
หลังเหตุการณ์นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียว่า “เซเลนสกีสามารถกลับมาได้เมื่อเขาพร้อมที่จะพูดเรื่องสันติภาพ” ซึ่งสะท้อนถึงแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ยูเครนหันมาเจรจากับรัสเซีย ขณะที่เซเลนสกีเลือกใช้โซเชียลมีเดียตอบโต้ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้นำยุโรปที่ยืนยันยืนหยัดเคียงข้างยูเครนและต่อต้านการประนีประนอมกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน
นักวิเคราะห์มองว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยูเครน ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลทรัมป์อาจลดการสนับสนุนทางทหารและการเงินต่อยูเครน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางของสงครามในระยะยาว ขณะที่พันธมิตรยุโรปต่างจับตามองว่าสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไปในการให้ความช่วยเหลือยูเครนหลังจากนี้.
ที่มา ไทยรัฐ