รัฐบาลทหารพม่าสั่งห้ามสื่อมวลชนต่างชาติเข้าพื้นที่รายงานข่าวสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยอ้างว่ากำลังประสบปัญหาขาดแคลนที่พัก ไฟฟ้าดับและขาดแคลนน้ำ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงกว่า 2,400 ศพ
วันที่ 1 เมษายน 2568 นายพลจัตวาซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา (พม่า) แถลงว่า รัฐบาลมีคำสั่งห้ามนักข่าวต่างชาติเข้าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาเรื่องที่พัก ไฟฟ้าดับ และการขาดแคลนน้ำสำหรับรองรับผู้มาเยือน
โฆษกฯ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่นักข่าวต่างชาติจะเดินทางมา พักอาศัย หรือเดินทางในพื้นที่เหล่านี้ และรัฐบาลต้องการให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้
โดยการสั่งห้ามผู้สื่อข่าวเช้าไปทำข่าวสร้างความกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสของรัฐบาลทหารพม่า เนื่องจากนักข่าวท้องถิ่นก็เผชิญกับข้อจำกัดอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว หลายฝ่ายยังกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ให้เข้าถึงบางพื้นที่ที่อยู่นอกการควบคุมของตน
ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2021 ที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี พม่ามาตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองกับกลุ่มต่อต้านหลายฝ่าย ล่าสุด มีรายงานว่ากองทัพเมียนมายังคงเดินหน้าโจมตีทางอากาศในหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งความรุนแรงและภัยพิบัติ
ขณะที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้มีการเปิดทางให้สื่ออิสระและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เข้าถึงพื้นที่ประสบภัยโดยไม่มีข้อจำกัด หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักทั่วประเทศ
ทางด้านสำนักข่าว Myanmar Now รายงานว่า การปราบปรามสื่อของรัฐบาลทหารเป็นสิ่งที่มีหลักฐานชัดเจน โดยในปี 2023 ไซ ซอ แตงค์ ช่างภาพข่าวของสำนักข่าวดังกล่าวถูกจับกุมขณะรายงานข่าวพายุไซโคลนโมคา และถูกตัดสินจำคุก 20 ปี
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์เมียนมาเปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันศุกร์ ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกแล้ว 36 ครั้ง โดยมีขนาดระหว่าง 2.8 -7.5 แมกนิจูด
แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,400 ศพ บาดเจ็บ 3,400 ราย และสูญหายอีกกว่า 300 คน ศูนย์กลางของแรงสั่นสะเทือนอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์เพียง 20 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศที่มีประชากรกว่า 1.5 ล้านคน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทางการได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายพื้นที่ รวมถึงเขตสะกาย มัณฑะเลย์ มะกเว รัฐฉานตอนเหนือ เนปีดอว์ และเขตพะโค.
ที่มา sanook