มองจุดเด่นประเทศไทย พลังการแข่งขันสูง

มองจุดเด่นประเทศไทย พลังการแข่งขันสูง

“เนื่องด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างคนไทยกับคนไต้หวัน อยู่ร่วมกันอย่างปรองดองตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา จึงมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือ และได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกว่า 4 ล้านบาทแก่หน่วยงานกาชาด ซึ่งเป็นเงินที่รวบรวมมาจากชุมชนไต้หวันและคนไทยเชื้อสายไต้หวัน เพื่อนำไปบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย หวังช่วยเยียวยาในอีกทางหนึ่ง”

“จาง จวิ้น ฝู” ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป เกริ่นกับทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ระหว่างนั่งสนทนาในออฟฟิศส่วนตัวใกล้แยกหลักสี่ เนื่องในโอกาสที่ไต้หวันเตรียมการจัดเฉลิมฉลองวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในวันที่ 10 ต.ค. ซึ่งถือเป็นการประเดิมบทบาทผู้นำของประธานาธิบดี “ไล่ ชิง เต๋อ” หลังจากขึ้นรับตำแหน่งวาระแรก เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

อย่างที่ได้คุยกันคราวก่อน การได้หวนกลับมาประจำอยู่ที่เมืองไทยในรอบ 30 ปี ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะนอกจากอาหาร (แกงเผ็ดเป็ดย่าง!) และภาคการบริการการท่องเที่ยวแล้ว มองว่าทรัพยากรอันมีค่าของประเทศไทยคือ “คนไทย” เป็นผู้คนที่มีความอดทนเป็นเลิศ ยอมรับความหลากหลายในด้านต่างๆ กล้าเปิดรับไอเดียใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ พวกเราคุยกันเสมอเวลาดูโฆษณาของประเทศไทยว่า “คิดได้ยังไง” พร้อมถามกันเองต้องทำยังไงถึงจะเอาเยี่ยงอย่างได้ ทำไมเราทำไม่ได้เหมือนเขาล่ะ

ส่วนเรื่องที่ถามว่า เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ รัฐบาลไต้หวันมีความกังวลอะไรไหม มองว่ายังไม่เห็นผลกระทบเชิงลบอะไร ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพราะว่าแก่นนโยบายหลักๆยังคงอยู่ นั่นคือการดึงดูดนักลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อยากได้นักท่องเที่ยวเพิ่ม ซึ่งเราเชื่อว่าตอบโจทย์ให้ได้ อย่างปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันเดินทางมาประเทศมากกว่า 700,000 คน

และปีนี้ก็มีความหวังว่าตัวเลขจะถึง 1 ล้านคน ต้องขอขอบคุณนโยบายวีซ่าฟรีที่รัฐบาลไทยจัดให้ เชื่อว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ก็อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องไป

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผมอดไม่ได้ที่จะมีความเป็นห่วง ในเรื่องของ “ค่าเงินบาทแข็งตัว” ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแข็งค่าไปมากกว่า 10% แน่นอนว่าค่าเงินของไต้หวันก็แข็งขึ้นเช่นกัน แต่ก็ยังไม่เท่ากับไทย ซึ่งการขยับของค่าเงิน จะสร้างผลกระทบในเรื่องของตัวเลขนักท่องเที่ยว ทั้งทำให้การส่งออกแข่งขันได้น้อยลง ต้องไม่ลืมว่ารายได้หลักของเศรษฐกิจไทยคือ การท่องเที่ยว และการส่งออก

บริษัทไต้หวันส่วนใหญ่ที่มาลงทุนในประเทศไทยเป็นธุรกิจเพื่อการส่งออก ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย เข้าใจดีว่าเรื่องนี้รัฐบาลไม่เกี่ยว เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งชาติ แต่อย่างในไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ (สหรัฐฯเป็นข้อยกเว้น) พอค่าเงินขยับไปจนถึงระดับที่น่าเป็นห่วง รัฐบาลก็จะเข้ามาเกี่ยวข้อง

ไหนๆ ถามแล้ว ขออนุญาตให้มุมมองในเรื่องของนโยบายปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศ (Global Minimum Tax) ขั้นต่ำ 15% เรื่องนี้ยอมรับว่าประหลาดใจนิดนึง ที่นโยบายมาเร็วกว่าที่คิดไว้ และจะสร้างผลกระทบอย่างแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะกรณีที่ประเทศไทยนำร่องก่อนชาติอื่นในอาเซียน เพราะหากดูอาเซียนในภาพรวมนั้น ถือว่าค่อนข้างสวนทาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ต่างพยายามออกนโยบายดึงดูดการลงทุนแข่งกัน

เลยอยากให้รัฐบาลไทยลองคุยกับเหล่า Stakeholder ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบถ้วน ถึงลงมือทำ

ขอย้ำเหมือนเดิมว่า ประเทศไทยเป็นชาติที่มีศักยภาพการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และเป็นที่สนใจของไต้หวัน อย่างในวันที่ 21-23 พ.ย.นี้ เราจะมีงาน Taiwan Expo ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในกรุงเทพฯ จัดแสดงนวัตกรรมต่างๆ ภายใต้หัวข้อหลักๆเช่น กระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมแบบอัจฉริยะ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมหมุนเวียน ไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เรามองอยู่ตลอดว่าจะเดินหน้าไปกับประเทศไทยเช่นไร

เช่นเดียวกับปี 2568 เราวางแผนไว้ว่า จะพยายามผลักดันความร่วมมือเพิ่มเติมด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการเกษตร โปรโมตความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ซึ่งกำลังเป็นทิศทางของโลกที่มีความต้องการ “แรงงานทักษะสูง” เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวิศวกร อย่างทุกวันนี้มีแรงงานไทยในไต้หวันประมาณ 85,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการก่อสร้าง ซึ่งด้วยนิสัยของคนไทยนั้นทำให้นายจ้างชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เป็นไปได้ไหมที่ไทยจะผลิตแรงงานทักษะสูงตอบโจทย์ความต้องการในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

“ขอโทษนะครับที่ต้องเอาคำนี้มาบอกกันว่า มีการพูดกันในแวดวงนานาชาติว่า นักเรียนไทยไม่เหมาะที่จะเป็นวิศวกร อยากให้ประเทศไทยลบภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นจริงนี้ออกไป โดยให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาการศึกษาด้านนี้ ด้านอื่นให้ความสำคัญได้ ด้านนี้ก็ต้องให้ความสำคัญได้ อย่างตอนที่เศรษฐกิจไต้หวันเริ่มเติบโตขึ้นมา เราก็เริ่มมาจากการเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ”

เรียนรู้จากจุดนั้นแล้วนำมาต่อยอด จากเดิมไต้หวันก็ไม่มีอะไร แต่สุดท้ายก็สามารถยกระดับถีบตัวเองขึ้นมา กลายเป็นผู้เข้าร่วมการแข่งขันในตลาดสากล มองว่าไทยทำได้ สร้างการผลิตของตัวเองได้ ขอเพียงมีนโยบายที่เกื้อหนุน กำหนดทิศทางไปเลยว่าอยากสนับสนุนภาคส่วนไหน พร้อมปรับมายด์เซต ปลุกพลังการแข่งขันในตัวเองขึ้นมา

นำมาสอดประสานกับความกล้าเปิดรับไอเดียใหม่ๆของคนไทยอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นมาก เข้าใจดีว่าคนไทยมีนิสัยใจคอที่นุ่มนวล ประนีประนอม ไม่ได้อยากสู้รบปรบมือกับใคร แต่พอมาดูกีฬาประจำชาติ “มวยไทย” นี่สิ กับภาคธุรกิจเอาเป็นแบบนี้บ้างไหม ใส่ความดุดันก้าวแกร่งเข้าไป เพื่อออกตะลุยแข่งขันกับชาติอื่นๆในเวทีระดับโลก.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,894 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed