ผู้นำทั่วโลกร่วมยินดี พระสันตะปาปาองค์ใหม่จากสหรัฐฯ หวังสืบทอดภารกิจสันติภาพของคริสตจักรคาทอลิก ท่ามกลางยุคสมัยที่โลกเผชิญความท้าทายด้านศรัทธาและสันติภาพ
ผู้นำประเทศทั่วโลกต่างร่วมแสดงความยินดีกับการได้รับเลือกของ พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ฟรานซิส เปรโวสต์ ให้เป็น สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ในฐานะพระประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ที่มีผู้นับถือกว่า 1.4 พันล้านคนทั่วโลก สืบตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสและยังเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกจากสหรัฐอเมริกา
สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทรงมีพระชนมายุ 69 ปี และมีสัญชาติสองสัญชาติ คือสหรัฐอเมริกาและเปรู ทรงเคยทำงานเป็นมิชชันนารีในตอนเหนือของเปรูเป็นเวลาหลายสิบปี และดำรงตำแหน่งพระสังฆราชแห่งเมืองชิกลาโย ตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2023
โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวแสดงความยินดีว่า “นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งของประเทศเรา” พร้อมกล่าวเสริมว่า “ผมตั้งตารอที่จะได้พบกับสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 มันจะเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายอย่างยิ่ง”
ส่วนนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็กล่าวแสดงความยินดีกับ “เพื่อนร่วมเมืองชิคาโก” และกล่าวว่า “วันนี้คือวันที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ เราจะสวดภาวนาให้พระองค์ในการเริ่มต้นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ในการนำพาคริสตจักรคาทอลิก และเป็นแบบอย่างให้แก่คนจำนวนมาก ไม่ว่าพวกเขาจะนับถือศาสนาใดก็ตาม”
ส่วนผู้นำชาติยุโรปต่างออกมาแสดงความยินดีเช่นกัน นายกรัฐมนตรี จอร์เจีย เมโลนี แห่งอิตาลีกล่าวว่า “ในห้วงเวลาที่โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความไม่สงบ คำกล่าวของพระองค์จากระเบียงมหาวิหารเปรียบเสมือนเสียงเรียกสู่สันติภาพ ภราดรภาพ และความรับผิดชอบ”
นายกรัฐมนตรี ฟรีดริช แมร์ซ แห่งเยอรมนี กล่าวว่าพระองค์คือ “ความหวังและแนวทางนำทางให้กับผู้ศรัทธานับล้านในช่วงเวลาท้าทายเช่นนี้”
นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “การเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 คือช่วงเวลาแห่งความปิติยินดีอย่างลึกซึ้งสำหรับชาวคาทอลิกทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก และเป็นจุดเริ่มต้นของบทใหม่ของผู้นำคริสตจักรในเวทีโลก”
นายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ของสเปนระบุว่า “ขอให้พระองค์ช่วยเสริมสร้างบทสนทนาและการปกป้องสิทธิมนุษยชน ในโลกที่กำลังต้องการความหวังและความเป็นหนึ่งเดียว”
ส่วนประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เน้นว่านี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์สำหรับคริสตจักรคาทอลิกและเหล่าศรัทธาชนทั่วโลก
ประธานาธิบดีอันด์แชย์ ดูดา ของโปแลนด์ ซึ่งเป็นคาทอลิกสายอนุรักษ์นิยม กล่าวว่า “ขอให้พระองค์ทรงรับทราบถึงความพร้อมของสาธารณรัฐโปแลนด์ที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ต่อไป ในนามของคุณค่าที่เรายึดมั่นร่วมกัน ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และการส่งเสริมสันติภาพในโลก”
ส่วนผู้นำจากประเทศในแถบลาตินอเมริกาอย่าง ประธานาธิบดีดิน่า โบลูอาร์เต แห่งเปรู ได้กล่าวชื่นชมการเลือกพระสันตะปาปาผู้มีสายเลือดทั้งอเมริกันและเปรู ว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ พร้อมกล่าวว่า “ในผืนแผ่นดินของเรา พระองค์ทรงหว่านเมล็ดแห่งความหวัง และเดินเคียงข้างผู้ที่เดือดร้อนที่สุด”
เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม แห่งเม็กซิโก ผู้นำประเทศที่มีชาวคาทอลิกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ยกย่องคุณค่าของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ว่า พระองค์ทรงยืนหยัดเพื่อสันติภาพและความรุ่งเรืองของโลก
ประธานาธิบดี กุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบียแสดงความหวังว่า “พระองค์จะเป็นผู้นำอันยิ่งใหญ่ของผู้ลี้ภัยทั่วโลก โดยเฉพาะพี่น้องชาวลาตินอเมริกันที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามในสหรัฐฯ ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะลุกขึ้นรวมตัวกัน”
ขณะที่ผู้นำจากประเทศอื่นๆ ก็ร่วมแสดงความยินดีด้วยเช่นกัน อย่างประธานาธิบดียูเครน วลาดิเมียร์ เซเลนสกี แสดงความหวังว่า วาติกันจะยังคงเป็นแหล่งกำลังใจทางจริยธรรมและจิตวิญญาณ
ด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย กล่าวว่า เขาเชื่อมั่นว่าการเจรจาและความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์ ระหว่างรัสเซียและวาติกันจะดำเนินต่อไป
ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ มาห์มูด อับบาส ส่งคำอวยพรให้พระสันตะปาปาประสบความสำเร็จในการสืบสานเจตนารมณ์ของพระสันตะปาปาฟรานซิส โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมสันติภาพ
ส่วนประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซ็อก แห่งอิสราเอล กล่าวว่าเขาหวังจะเห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับวาติกัน และขอให้พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่สร้างสะพานเชื่อมโยงและความเข้าใจระหว่างศาสนาและประชาชนทั้งหลาย.
ที่มา : channelnewsasia
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/