ยานหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance rover) ขององค์การ สหรัฐอเมริกา ที่สำรวจหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิตในอดีตบนดาวอังคาร ได้ส่งข้อมูลให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ควบคุมเพอร์เซเวียแรนซ์ เกี่ยวกับหินรูปร่างคล้ายหัวลูกธนูขนาด 1 เมตร × 0.6 เมตรก้อนหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวอย่างแกนหินชิ้นที่ 22 ที่ยานเก็บรวบรวมเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ขณะที่ยานสำรวจที่ขอบด้านเหนือของ Neretva Vallis คือหุบเขาแม่น้ำโบราณที่มีความกว้างประมาณ 400 เมตร ถูกกัดเซาะโดยน้ำที่ไหลลงสู่หลุมอุกกาบาตเยเซโรเมื่อนานมาแล้ว
ทีมนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อเล่นให้หินก้อนนี้ว่า “Cheyava Falls” โดยระบุว่าหินก้อนนี้มีลักษณะที่น่าสนใจและอาจไขคำตอบว่าดาวอังคารเคยเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในสมัยโบราณหรือไม่ และการตรวจสอบ Cheyava Falls หลายครั้งด้วยเครื่องมือ SHERLOC (Scanning Habitable Environments with Raman & Luminescence for Organics & Chemicals) ของเพอร์เซเวียแรนซ์ บ่งชี้ว่า Cheyava Falls มีสารประกอบอินทรีย์ ที่ถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต แต่โมเลกุลเหล่านี้ก็ก่อตัวขึ้นจากกระบวนการที่ไม่ใช่ทางชีวภาพได้เช่นกัน นักวิทยาศาสตร์เผยว่าหินมีสายแร่แคลเซียมซัลเฟตสีขาวขนาดใหญ่ ท่ามกลางสายแร่เหล่านี้ก็มีแถบของวัสดุสีแดงเรื่อ บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของเฮมาไทต์ เป็นเหล็กออกไซด์สีแดงเช่นเดียวกับสนิมเหล็ก
นอกจากนี้ยังพบจุดสีขาวขุ่นขนาดจิ๋ว รูปร่างไม่สม่ำเสมอหลายสิบจุด แต่ละจุดมีวัสดุสีดำล้อมรอบคล้ายกับจุดของเสือดาว เครื่องมือ PIXL (Planetary Instrument for X-ray Lithochemistry) ของ เพอร์เซเวียแรนซ์ ระบุว่าขอบสีดำเหล่านี้มีทั้งแร่เหล็กและฟอสเฟต ซึ่งน่าประหลาดใจเพราะบนโลก ลักษณะเหล่านี้ในหินมักเกี่ยวข้องกับซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ใต้ผิวดิน.
Credit : NASA/JPL-Caltech/ASU/MSSS
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/