นักวิทย์จับตา “พายุสุริยะ” ตรวจพบดวงอาทิตย์ปะทุเส้นใยสุริยะ คาดพุ่งเฉี่ยวโลกในวันพรุ่งนี้

นักวิทย์จับตา “พายุสุริยะ” ตรวจพบดวงอาทิตย์ปะทุเส้นใยสุริยะ คาดพุ่งเฉี่ยวโลกในวันพรุ่งนี้

นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเฝ้าจับตาปรากฏการณ์ “พายุสุริยะ” ครั้งใหญ่ของปีนี้ ที่ทำให้เกิดการปะทุของเส้นใยสุริยะขนาดมหึมา พุ่งออกจากผิวดวงอาทิตย์ราวกับ “ปีกนกไฟ” ยาวกว่า 1 ล้านกิโลเมตร หรือกว่า 2 เท่าของระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ คาดว่าบางส่วนอาจเฉี่ยวโลก 17 พ.ค.นี้ ทำให้เสี่ยงเกิดพายุแม่เหล็กเล็กน้อย และแสงเหนืออาจโผล่ในบางพื้นที่

16 พฤษภาคม 2568 เว็บไซต์ข่าว NBC News รายงานว่า นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตาปรากฏการณ์ “พายุสุริยะ” ครั้งใหญ่ที่สุดของปีนับจนถึงตอนนี้ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำให้เกิดการปะทุของเส้นใยสุริยะขนาดมหึมา พุ่งออกจากผิวดวงอาทิตย์ราวกับ “ปีกนกไฟ” (Angel-wing eruption) ความยาวกว่า 1 ล้านกิโลเมตร หรือกว่า 2 เท่าของระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เส้นใยสุริยะได้แผ่กระจายออกจากขั้วเหนือของดวงอาทิตย์ และบางส่วนพุ่งมาทางโลก คาดว่าบางส่วนของการปะทุอาจเฉี่ยวโลกในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ โดยอาจทำให้เกิด พายุแม่เหล็กระดับไม่รุนแรง และประชาชนจะมีโอกาสได้เห็นแสงเหนือในบางพื้นที่ของโลก

รายงานข่าวระบุว่า ปรากฏการณ์พายุสุริยะกบันทึกไว้โดยดาวเทียมขององค์การนาซา ซึ่งเผยให้เห็นเส้นใยพลาสมาร้อนขนาดมหึมาหลุดลอยจากบริเวณขั้วเหนือของดวงอาทิตย์ ลักษณะคล้ายปีกนกขนาดใหญ่ที่ค่อยๆ คลี่ออกในอวกาศ

แม้การปะทุจะมุ่งขึ้นเหนือและส่วนใหญ่จะไม่กระทบโลกโดยตรง แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า บางส่วนอาจเฉี่ยวโดนโลก และอาจทำให้เกิดพายุแม่เหล็กในระดับที่สามารถสังเกตได้ แต่ไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตประจำวัน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นพลังงานอาจส่งผลให้ระบบดาวเทียมและ GPS ทำงานผิดปกติ ชั่วคราวในบางช่วงเวลา แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายรุนแรงจากโครงข่ายไฟฟ้าหรือดาวเทียม ขณะที่ผลกระทบจากพายุสุริยะครั้งนี้อาจมีอิทธิพลต่อโลกอีก 2–3 วัน ก่อนที่จะเบาบางลง

เข้าใจปรากฏการณ์ “เส้นใยสุริยะ” และผลกระทบ

เส้นใยสุริยะ (Solar Filaments) คือพลาสมาที่เย็นกว่าบริเวณโดยรอบบนดวงอาทิตย์ ถูกตรึงไว้เหนือผิวดวงอาทิตย์ด้วยสนามแม่เหล็ก เมื่อสนามแม่เหล็กเหล่านี้ไม่เสถียร อาจทำให้เกิดการปะทุขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “มวลพุ่งออกจากดวงอาทิตย์” หรือ CME (Coronal Mass Ejection)

นายเจค ฟอสเตอร์ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวราชสมาคมกรีนิช (Royal Observatory Greenwich) อธิบายว่า หาก CME เฉี่ยวโลก อาจทำให้เกิดพายุแม่เหล็กที่ส่งผลกระทบต่อสัญญาณดาวเทียม ระบบ GPS วิทยุสื่อสาร และอุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภทได้ แต่จากการคาดการณ์ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังประเมินว่า โอกาสเกิดพายุระดับรุนแรงมีน้อยมาก และคาดว่าโลกจะได้รับผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ลุ้นชม “แสงเหนือ” ในหลายพื้นที่
แม้ปรากฎการณ์เส้นใยสุริยะที่มาถึงโลกอาจจะไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่จะเพิ่มโอกาสที่จะเห็น แสงเหนือ (Aurora) ในพื้นที่บางแห่งของซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะในประเทศอย่างสกอตแลนด์ ไอซ์แลนด์ หรือแถบสแกนดิเนเวีย หากท้องฟ้าเปิดและใช้กล้องถ่ายภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนาน อาจได้ภาพที่น่าประทับใจ

โดยดร.ทามิธา สคอฟ นักฟิสิกส์ด้านอวกาศเปิดเผยว่า แม้จะดูเหมือนว่าการปะทุพุ่งขึ้นไปทางขั้วเหนือของดวงอาทิตย์ แต่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจมีบางส่วนของมวลพลังงานเคลื่อนมายังทิศทางโลกเล็กน้อย.

ที่มา NBC News Daily Mail

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

4,387 Posts

View All Posts
Follow Me :