ดาวเทียมที่ทำจากไม้ที่คิดค้นพัฒนาโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศแล้วในวันนี้ ซึ่งนับเป็นการทดสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ไม้ในภารกิจการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร
ดาวเทียม “ลิกโนแซท” (LignoSat) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกียวโตและบริษัทแปรรูปไม้และรับสร้างบ้านซูมิโตโม ฟอเรสทรี ถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในภารกิจของสเปซเอ็กซ์แล้ว ก่อน จะถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรในอวกาศที่ระดับความสูง 400 กิโลเมตรจากพื้นโลก
ดาวเทียม “ลิกโนแซท” ดวงนี้ตั้งชื่อด้วยภาษาละติน ที่หมายถึง “ไม้” มีขนาดเพียงเท่าฝามือ และมีภารกิจในการทดสอบศักยภาพของวัสดุหมุนเวียนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในขณะที่มนุษย์กำลังเร่งสำรวจแนวทางในการใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ
นายทาคาโอะ โดอิ นักบินอวกาศที่เคยเดินทางไปกับยานขนส่งอวกาศและศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ในอวกาศที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ระบุว่า ไม้เป็นวัสดุที่มนุษย์ผลิตได้เอง และสามารถนำไปใช้ในการสร้างบ้าน ที่อยู่อาศัยและที่ทำงานในอวกาศได้ตลอดไป
โดยคณะนักวิจัยมีแผนการในระยะเวลา 50 ปี ที่จะปลูกต้นไม้และสร้างบ้านจากไม้บนดวงจันทร์และดาวอังคาร ทีมของนายโดอิจึงตัดสินใจพัฒนาดาวเทียมไม้ ที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งขาติของสหรัฐ หรือ นาซา เพื่อพิสูจน์ว่า ไม้เป็นวัสดุที่สามารถใช้ในอวกาศได้จริง
ขณะที่นาย โคจิ มุราตะ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ป่าไม้ของมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า เมื่อต้นทศวรรษหลังปี 1900 เครื่องบินยังทำมาจากไม้ได้ ดังนั้น ดาวเทียมที่ทำจากไม้ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันโดยไม้ที่อยู่ในอวกาศจะมีความทนทานมากกว่าอยู่บนพื้นโลก เพราะอวกาศไม่มีน้ำหรือออกซิเจนที่จะทำให้ไม้เสื่อมสภาพหรือติดไฟ นอกจากนี้ ดาวเทียมไม้ยังลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดการใช้งานของมันด้วย
นายโดอิ ยังระบุด้วยว่า ตามปกติแล้ว ดาวเทียมที่ถูกปลดประจำการจะตองกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อหลีกเลี่ยงการกลายเป็นขยะอวกาศ โดยดาวเทียมโลหะทั่วไปสร้างอนุภาคอลูมิเนียมออกไซด์ระหว่างการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ดาวเทียมที่ทำจากไม้จะถูกเผาไหม้หมดไปโดยมีมลพิษน้อยกว่าดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่ดาวเทียมโลหะอาจถูกห้ามในอนาคต หากเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าดาวเทียมไม้ดวงแรกนี้ทำงานได้
ทั้งนี้ “ลิกโนแซท” ทำจากไม้ โฮโนกิ จากต้นแมกโนเลียชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่นและถูกใช้ทำซองดาบในอดีต ซึ่งพบว่ามีความเหมาะสมกับการใช้งานในอวกาศ หลังมีการนำไปทดลองที่สถานีอวกาศนานาชาตินานถึง 10 เดือน โดยทีมนักวิจัยได้ใช้เทคนิคการสร้างตามแบบญี่ปุ่นโดยไม่ใช้กาวหรือตะปูเกลียวยึดแต่อย่างใด ซึ่งดาวเทียมไม้นี้จะโคจรอยู่รอบโลกเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อทดสอบดูความคงทนของไม้ในสภาพแวดล้อมสุดขั้วในอวกาศซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ที่ราว -100 ถึง 100 องศาเซลเซียสในทุกๆ 45 นาที.
ที่มา : channelnewsasia