นักวิจัยพบไมโครพลาสติกในศูนย์รับกลิ่นของสมองมนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปริมาณของอนุภาคขนาดเล็กที่สะสมอยู่ในร่างกายอาจสูงกว่าที่คาดไว้มาก
การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เปิดเผยว่าผู้ใหญ่ 8 ใน 15 คนที่ถูกทำการชันสูตรพลิกศพในเยอรมนีและบราซิล มีไมโครพลาสติกอยู่ภายในป่องรับกลิ่น (Olfactory Bulb) ซึ่งเป็นจุดรวมของเส้นประสาทรับกลิ่นทั้งหมด
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโลในบราซิลกล่าวว่า อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กซึ่งพบได้ทั่วไปในอากาศในปัจจุบันนั้น มีแนวโน้มว่าผู้เสียชีวิตได้สูดดมเข้าไปตลอดชีวิต แม้ว่าการวิจัยก่อนหน้านี้จะพบไมโครพลาสติกในปอด ลำไส้ ตับ เลือด อัณฑะ และแม้แต่ในอสุจิของมนุษย์ แต่เกราะป้องกันนี้เชื่อว่าจะป้องกันไม่ให้อนุภาคที่เป็นพิษเหล่านี้เข้าไปในสมองได้
การวิจัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเน้นย้ำถึงผลกระทบอันเป็นอันตรายของอนุภาคที่เป็นพิษเหล่านี้ต่อระบบภูมิคุ้มกัน และเชื่อมโยงอนุภาคเหล่านี้กับโรคมะเร็งบางประเภท โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาว การศึกษาวิจัยใหม่นี้เผยให้เห็นว่า มีเส้นทางที่เป็นไปได้สำหรับการเคลื่อนย้ายไมโครพลาสติกไปยังสมอง ผ่านทางป่องรับกลิ่น ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากไมโครพลาสติกต่อความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ภาวะสมองเสื่อม
นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบสมองของผู้เสียชีวิต 15 ราย เป็นชาย 12 รายและหญิง 3 ราย อายุตั้งแต่ 33 – 100 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในนครเซาเปาโลมานานกว่า 5 ปี และพบอนุภาคโพลีเมอร์สังเคราะห์และเส้นใย 16 ชิ้นในป่องรับกลิ่นของผู้เสียชีวิต 8 ราย โดยขนาดของอนุภาคมีตั้งแต่ 5.5 ไมครอน ถึง 26.4 ไมครอน
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ารูเล็กๆ ในกระดูกที่อยู่บริเวณฐานของกะโหลกศีรษะ ซึ่งเรียกว่าแผ่นคริบริฟอร์ม น่าจะเป็นช่องทางให้อนุภาคพลาสติกในช่องจมูกเข้าไปในสมองได้
การศึกษาระบุว่า เนื่องจากมีไมโครพลาสติกจำนวนมากในอากาศ การพบไมโครพลาสติกในจมูกและในป่องรับกลิ่น รวมถึงช่องทางกายวิภาคที่เปราะบาง ช่วยตอกย้ำแนวคิดที่ว่าช่องทางรับกลิ่นเป็นจุดสำคัญที่อนุภาคจากภายนอกเข้าสู่สมอง นักวิจัยกล่าวว่าแม้แต่อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า ก็อาจเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าที่เคยเชื่อ และอาจเกี่ยวข้องกับภาวะทางระบบประสาทและจิตเวช เช่น ภาวะสมองเสื่อม
โดยผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม ชี้ให้เห็นว่าสมองมีไมโครพลาสติกมากกว่าอวัยวะอื่นถึง 20 เท่า และอาจคิดเป็น 0.5% ของมวลสมอง แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าไมโครพลาสติกดังกล่าวสะสมอยู่ที่ใด.
ที่มา Independent
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/