กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ผลงานความร่วมมือขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศแคนาดา ได้ปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับจักรวาลในยุคแรกเริ่ม หลังเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 โดยค้นพบวัตถุและปรากฏการณ์ต่างๆในอวกาศที่น่าทึ่งหลากหลาย
ล่าสุด ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากหอดูดาวสจ๊วต แห่งมหาวิทยาลัยอริโซนา ในสหรัฐฯ และสถาบันจักรวาลวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ เผยผลสำรวจจากโครงการสำรวจกาแล็กซีที่ยังไม่ถูกค้นพบในห้วงอวกาศลึกที่ไกลออกไป (The JWST Advanced Deep Extragalactic Survey-JADES) ซึ่งถือว่ากล้องโทรทรรศน์กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ได้ทำลายสถิติอีกครั้ง นั่นคือการพบกาแล็กซี 2 แห่งคือ JADES-GS-z14-0 และ JADES-GS-z14-1 ตั้งอยู่ห่างไกลมากจนแสงจากกาแล็กซีทั้ง 2 แห่งส่องมาถึงโลกเรา มาจากช่วงเวลาจักรวาลมีอายุเพียง 290 ล้านปีเท่านั้น คิดเป็นประมาณ 2% ของอายุจักรวาลปัจจุบันที่คำนวณอยู่ที่ 13,800 ล้านปี กาแล็กซีดังกล่าวจะทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับจักรวาลยุคแรกๆได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กาแล็กซีที่เคยสร้างสถิติเก่าแก่สุดคือ JADES-GS-z13-0 เกิดขึ้นเมื่อ 325 ล้านปีหลังจากจักรวาลถือกำเนิด ส่วนกาแล็กซี JADES-GS-z14-0 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1,700 ปีแสง (1 ปีแสงคือระยะทางที่แสงเดินทางใน 1 ปี หรือ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร) กาแล็กซีแห่งนี้มีมวลเทียบเท่ากับดาวฤกษ์ขนาดดวงอาทิตย์ของเรารวมกัน 500 ล้านดวง และมีการก่อตัวดาวฤกษ์ดวงใหม่อย่างรวดเร็วประมาณ 20 ดวงต่อปี กลายเป็นกาแล็กซีที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้กันในเวลานี้.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/