อังกฤษสุดล้ำ ทดลอง “ปรับแต่งก้อนเมฆ” สะท้อนแสงอาทิตย์ สู้โลกร้อน นักวิทย์เตือนกระทบสภาพอากาศรุนแรง

อังกฤษสุดล้ำ ทดลอง “ปรับแต่งก้อนเมฆ” สะท้อนแสงอาทิตย์ สู้โลกร้อน นักวิทย์เตือนกระทบสภาพอากาศรุนแรง

รัฐบาลอังกฤษทุ่มงบ 2,600 ล้านบาท ในโครงการ “ปรับแต่งก้อนเมฆ” ภายใน 5 ปี หวังลดภาวะโลกร้อน ด้านนักวิทย์เตือนอาจเปิดประตูสู่หายนะใหม่ของโลก

วันที่ 9 พฤษภาคม 2568 สำนักข่าว BBC รายงานว่า ขณะนี้รัฐบาลอังกฤษอนุมัติงบประมาณสูงถึง 57 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2,600 ล้านบาท ให้กับโครงการวิจัย “จีโอเอนจิเนียริง” (Geoengineering) เพื่อทดลองวิธีการควบคุมแสงอาทิตย์ ด้วยการ “ดัดแปลงก้อนเมฆ” (Cloud Brightening) แนวทางสุดล้ำในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทดลองกลางแจ้งได้เร็วสุดในช่วงฤดูหนาวปี 2027–2028

โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูงแห่งสหราชอาณาจักร (ARIA) ที่มุ่งทดลองเทคโนโลยีดัดแปลงก้อนเมฆโดยใช้เรือพ่นน้ำทะเลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อทำให้ละอองน้ำในเมฆจับตัวกันเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น และมีความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น เป็นการลดปริมาณรังสีความร้อนที่เข้าสู่โลกโดยตรง

โดยก่อนเริ่มการพ่นจริงในสนาม ทีมวิจัยจะพัฒนาเครื่องพ่นน้ำทะเล และทดสอบภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งพื้นที่ทดลองเบื้องต้นจะมีขนาดกว้างราว 330 ฟุต แต่หากได้ผลดี อาจขยายขอบเขตการทดลองออกไปหลายไมล์ภายในสิ้นทศวรรษนี้

ศาสตราจารย์มาร์ก ไซมส์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูงกล่าวว่า แม้จากพื้นดินอาจไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน แต่การใช้เครื่องมือที่บินผ่านกลุ่มเมฆจะทำให้เราสามารถวัดผลกระทบได้

อย่างไรก็ตาม โครงการดีดแปลงก้อนเมฆกำลังเผชิญเสียงคัดค้านอย่างหนักจากนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการบางกลุ่มที่ออกมาเตือนว่า การแทรกแซงทางธรรมชาติอาจก่อผลกระทบไม่พึงประสงค์ต่อระบบภูมิอากาศ และยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันความปลอดภัยในระยะยาว

ศาสตราจารย์ไมก์ ฮูลม์ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เตือนว่า การทำแบบนี้อาจพาโลกไปสู่การใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระดับอันตราย เนื่องจากข้อมูลในห้องแล็บไม่สามารถรับประกันได้ว่าเทคโนโลยีนี้จะปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง และสามารถย้อนกลับได้จริง”

ทางด้านดร.นาโอมิ วอห์น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ระบุว่า แนวทางการสะท้อนแสงอาทิตย์อาจกลายเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ต่อสังคม.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

4,350 Posts

View All Posts
Follow Me :

You May Have Missed