ตำรวจไซเบอร์ จับมือ สคส. PDPC ตั้งชุด “ไซเบอร์ อาย” ตรวจจับและป้องกันการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล ป้องกันอาชญากรรมทางออนไลน์
ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบช.สอท.1 พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC แถลงความร่วมมือในการปราบปรามการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบเพื่อการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. กล่าวว่า ตามที่มีประกาศตามพระราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับ พรก.ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับที่ 2 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมาโดยในมาตรา 11/2 ได้กำหนดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้ที่ครอบครอง รวบรวม หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ในการที่จะมีผู้นำข้อมูลนั้นไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือกระทำผิดกฎหมายอาญาอื่น โดยเลขา สคส. หรือ PDPC ได้นำทีมงานชุดคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ อีเกิ้ล อาย ของ PDPC มาปฏิบัติงานในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยทางตำรวจไซเบอร์จะมีการตั้งชุดไซเบอร์อายปฏิบัติงานควบคู่กับอีเกิ้ล อาย ที่เปรียบเสมือนตาซ้ายและตาขวาในการป้องกันอาชญากรรมทางออนไลน์ และการเฝ้าระวังการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของพี่น้องประชาชนไปใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์หรือความผิดกฎหมายอาญาอื่นๆ โดยมี พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบช.สอท.1 เป็นผู้ประสานงาน และหัวหน้าชุดไซเบอร์ อาย ที่จะปฏิบัติงานคู่กับ อีเกิ้ล อาย ของ PDPC

ขณะที่ พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นตั้งแต่มีการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นมาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองข้อมูลของประเทศ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันนอกจากจะมีประโยชน์เกี่ยวกับข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคมดิจิทัลแล้วยังจะมีประโยชน์ในเรื่องของการสร้างความสงบเรียบร้อยกับสังคมด้วย เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมปัจจุบันล้วนมีต้นตอมาจากข้อมูลส่วนบุคคลที่รั่วไหลมีการขายและนำมาใช้ให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของ
ดังนั้น ปัจจุบันได้มี พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ครอบครอง เก็บรวบรวมเพื่อใช้หรือให้บุคคลอื่นนำไปใช้เกี่ยวกับการกระทำผิดก็จะมีโทษทางอาญา ทาง PDPC จึงมีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนให้เต็มศักยภาพที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีภารกิจสอดคล้องกับตำรวจไซเบอร์ในการปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมว่า การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ใครทำก็ต้องรับโทษ จึงมีการบูรณาการระหว่าง สคส.โดยมีศูนย์ PDPC Eagle Eye กับ Cyber Eye ของตำรวจไซเบอร์ ในการตรวจจับและป้องกันการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลต่อไป
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/