ศอ.บต. ส่งเสริมกีฬาตามความนิยม จชต. “คาร์รอม” สร้างสามัคคี ความรักและผูกพันครอบครัว-ชุมชนชายแดนใต้ หวังยกระดับกีฬาให้เป็นนานาชาติ สร้างสรรค์ความเป็นมนุษย์
วันนี้ (19 พฤษภาคม 2566) ที่ห้องประชุมเจริญจิตต์ ณ สงขลา ศอ.บต. อำเภอเมือง จังหวัดยะลา นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือการจัดการแข่งขันกีฬา “คาร์รอม” (Carom/Carroms) หรือ ที่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้จักกันในภาษามลายูของ “แกแรไคโร” ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมที่ผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยส่วนใหญ่นิยมเล่นกันเป็นประจำและต่อเนื่องมาอย่างช้านาน โดยเฉพาะในพื้นที่ร้านน้ำชาประจำหมู่บ้าน เป็นกีฬาที่มีความสำคัญและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทุกเพศ ทุกวัยและทุกศาสนา อย่างแท้จริง เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นกีฬาที่สร้างสรรค์ความเป็นมนุษย์ตามที่ Mr. Samahon MD. Kasim นายกสมาคมคาร์รอมประเทศมาเลเซียได้เคยกล่าวถึงไว้
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. มีเจตจำนงค์ที่ต้องการยกระดับและส่งเสริมการแข่งขันกีฬาคาร์รอมซึ่งเป็นกีฬาที่ประชาชนในพื้นที่โดยส่วนมากนิยมเล่นกัน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีการเล่นและแข่งขันกันในหมู่บ้าน-ชุมชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ ศอ.บต. รับทราบและเข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และจังหวัดสตูล นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย บางส่วนยังมีการกล่าวถึงว่าคาร์รอม เป็นกีฬาที่สื่อถึงการแสดงออกทางประเพณี ศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึง อัตลักษณ์ของประชาชนในคาบสมุทรมลายู อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีเล่นในหมู่คนส่วนมาก แต่ยังไม่มีการจัดการแข่งขันที่เป็นรูปแบบและเป็นทางการ มีมาตรฐานการเล่นที่แตกต่างกัน ครั้งนี้ จึงเป็นครั้งแรกและเป็นโอกาสสำคัญที่ ศอ.บต. ร่วมกับศูนย์ประสานงานกีฬาคาร์รอม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้ร่วมมือทำงานอย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมการเล่นกีฬาด้วยกล่าวให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง จะได้วางแผนการทำงานร่วมกันเพื่อจะได้ส่งเสริมให้เป็นกีฬาระดับชาติและระหว่างประเทศในปี 2567 ที่จะถึงนี้ ทั้งในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งในอนาคต คาดหวังว่าจะให้เป็นกีฬาระดับนานาชาติที่ครอบคลุมไปถึงประเทศบรูไน ประเทศอินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร และประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
นายชนธัญฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในปี พ.ศ. 2566 นี้ ในช่วงเดือน มิถุนายน – กันยายน 2566 จะเกิดการแข่งขันกีฬาคาร์รอมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อสรุปที่ประชุมอย่างแน่นอน มีแผนกำหนดการหารือที่ตกผลึกร่วมกันที่สำคัญ ได้แก่
- ช่วงเวลานี้ ถึงสิ้นเดือน พฤษภาคม จะได้มีการวางแผนและขั้นตอนการจัดการแข่งขันเพื่อเป็นแผนปฏิบัติงานของทุกฝ่ายที่จะลงรายละเอียดของการแข่งขันทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีโอกาสร่วมการแข่งขันให้มากที่สุด
- เดือนมิถุนายน จะเริ่มประชาสัมพันธ์เชิญชวนการแข่งขันต่าง ๆ และสมัครเข้าสู่การแข่งขันประมาณ 1 เดือน
- เดือน กรกฎาคม – สิงหาคม จะเป็นการแข่งขัน โดยจะทำการแข่งขันในช่วงวันเสาร์ และหรือ อาทิตย์ ที่จะต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นช่วงเวลาทีทุกฝ่ายสามารถร่วมกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ และจะให้รางวัลที่อาจจะมีทั้งโล่รางวัลเงินสดจำนวนหนึ่ง
ด้าน ดร. ฮีรมี เจะแม ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานกีฬาคาร์รอม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวขอบคุณในการสนับสนุนที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทั้งการจัดตั้งสมาคมซึ่งติดขัดจากส่วนกลางเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว รวมทั้ง งบประมาณและปัจจัยอื่น ๆ ที่จะเป็นการสนับสนุนให้ศูนย์สามารถจัดการแข่งขันในระดับพื้นที่และมีแผนการทำงานในปี 2567 ที่ต้องการขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมการแข่งขันกีฬาร่วมกันประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นปประเทศที่ประชาชนนิยมเล่นกีฬาประเภทนี้ไม่แพ้กัน รู้สึกมีขวัญและกำลังใจที่จะขับเคลื่อนการแข่งขันกีฬาประเทศนี้ไปสู่ประชาชนทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยทางกลุ่มมีความพร้อมและมีบุคลากรเพื่อสนับสนุนการจัดดังกล่าว และเชื่อมั่นว่ากีฬาคาร์รอมจะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญอย่างมากต่อความสัมพันธ์กับอีกหลายประเทศที่นิยมเล่นกีฬาประเภทนี้อยู่ เช่น บังคลาเทศ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ศรีลังกา ปากีสถาน สาธารณรัฐเช็ก เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี โปแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร เป็นต้น เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพากีฬาประเภทนี้ให้เป็นของขวัญอีกเรื่องหนึ่งให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะนำมาซึ่งความสุข ความรักและความสามัคคีระหว่างกัน
สำหรับ กีฬา “คาร์รอม” หรือ “แกแรไคโร” (บาฮาซามลายู) เป็นเกมบนโต๊ะที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย และในบางแหล่งอ้างว่ามาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งยังมีความคลุมเครือในการอ้างอิงจากแหล่งต้นกำเนิดจากประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม กีฬาดังกล่าว ได้รับความนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่รู้จักในชื่อและภาษาต่าง ๆ ในเอเชียมักเล่นกันในคลับและคาเฟ่หลายแห่งจัดการแข่งขันเป็นการประจำ มักเล่นกันโดยครอบครัว ตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึง ผู้สูงอายุ เป็นกิจกรรมในครอบครัวที่นิยมเล่นกัน มีมาตรฐานะและกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่