ศอ.บต. ร่วมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดผลักดันการก่อสร้าง สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 หวัง สร้างเศรษฐกิจรายได้ให้กับประชาชน เชื่อมความสัมพันธ์ไทย – มาเลเซียที่แน้นแฟ้นยิ่งขึ้น
วันนี้ (22 พฤษภาคม 2566) ที่ โรงแรม Pulse Grand ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย นายชนธัญ แสงพุ่ง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมประชุมด้านเทคนิคมาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 3 ในโครงการการยกระดับสะพานเชื่อมรันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย และสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย ตามที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ได้เห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อไทยและมาเลเซียในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการมาเลเซีย ได้เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าพร้อมร่วมหารือกับฝ่ายไทย เพื่อให้โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 สามารถผ่านลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องการคมนาคมและการค้าชายแดน รวมทั้งรองรับนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีเพิ่มสูงขึ้น
โดยในการประชุมครั้งนี้ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีข้อเสนอให้คณะทำงานฝ่ายไทย นำเสนอต่อรัฐบาลไทยในการเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จในกระบวนการบริหารจัดการ รวมทั้งการออกแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ ศอ.บต. จะได้เป็นหน่วยร่วมแก้ไขปัญหาที่ยังค้าง อาทิ การจัดการปัญหาพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยและได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง การจัดการพื้นที่ภายในของด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ซึ่งจำเป็นจะต้องมีพื้นที่กลางสำหรับการก่อสร้าง และข้อสรุปขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างโครงการร่วมของทั้งสองประเทศ ข้อสรุปที่เป็นข้อยุติแล้ว ขั้นตอนต่อไป ศอ.บต. จะได้จัดการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ 1 เดือน และจะมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้การอนุมัติ/เห็นชอบต่อไป และจะดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายงบประมาณของส่วนราชการประจำปี 2567 เพื่อให้ดำเนินการแล้วเสร็จอันจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยเร่งรัดแผนการดำเนินการจากเดิมมีกำหนดจะทำในห้วงปีงบประมาณ 2568 ให้อยู่ในปี 2567 เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2568 ที่จะถึงนี้เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นของขวัญให้กับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ทั้งในส่วนของอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอข้างเคียงจังหวัดนราธิวาสของประเทศไทยและรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย ซึ่งต่างรอคอยการใช้ประโยชน์สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 นี้ มาเป็นเวลากว่า 20 ปี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ยังคงเชื่อมั่น โครงการเหล่านี้ จะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้า การท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนมากขึ้น ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศร่วมกันอย่างยั่งยืน ต่อไป