ผู้บริหาร ศอ.บต. นำคณะ สศช. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานในการเปิดจุดเชื่อมของด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นด่านชายแดนที่ทันสมัย สามารถรองรับการค้า การลงทุนชายแดนไทย-มาเลเซีย
วันนี้ (3 มีนาคม 2566) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมพระนิกรบดี ชั้น 2 อาคารสำนักงานด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นายบุญพาศ รักนุ้ย รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำคณะผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน รวมถึงปัญหา อุปสรรคด้านต่างๆ ของด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นด่านชายแดนที่ทันสมัย สามารถรองรับการค้า การลงทุนชายแดนไทย-มาเลเซีย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายคณิต มีปิด นายด่านศุลกากรสะเดา ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามและรายงานผลการดำเนินงานในครั้งนี้
สำหรับด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ปัจจุบันได้ดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมาเกือบ 2 ปี โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 2,200 ล้านบาท เพราะเป็นด่านการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งส่งออกและนำเข้า รวมมูลค่า 400,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาและเตรียมการเพื่อเปิดใช้งานด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ทั้งการจัดหาและติดตั้งระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์แบบขับผ่าน เพื่อเป็นการป้องกันและตรวจจับสิ่งของต้องห้ามที่ผิดกฎหมาย, การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่, จัดทำป้ายสัญลักษณ์แสดงตำแหน่งอาคารและป้ายบอกทางจราจรพร้อมอุปกรณ์ประกอบ และการก่อสร้างห้องน้ำและห้องละหมาดเพิ่มเติม จำนวน 6 อาคาร
ในที่ประชุม มีการชี้แจงการจัดทำโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคม อุตสาหกรรมสะเดากับด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร, โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัม และโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ ตอนแยก ทล.4 (พรุเตียว) – ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ อีกด้วย
หลังประชุม รองเลขาธิการ ศอ.บต. และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมรอยเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย และได้เยี่ยมด่านพรมแดนสะเดา ซึ่งพบว่ามีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านด่านพรมแดนสะเดา เข้ามาในประเทศไทยอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะช่วงวันหยุด มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนมากเป็นพิเศษ อีกทั้งรถขนส่งสินค้ายังมีการเข้า-ออก อย่างต่อเนื่อง และการจราจรยังคงเป็นไปด้วยความสะดวก เนื่องจากเจ้าหน้าที่บริหารจัดการได้เป็นอย่างดี
จากนั้น คณะ ได้เดินทางข้ามด่านไปยังสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อนำคณะ ศึกษาดูงานกระบวนการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ โดยขนส่งสินค้าจากปาดังเบซาร์ มายังประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯ ทั้ง 2 ประเทศ ที่สนับสนุนให้มีการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และสร้าง Landbridge เส้นทางใหม่ เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรางจากประเทศมาเลเซีย ถึงไทย และส่งต่อไปที่ประเทศลาว