บรรลุผลเจรจาไทย-มาเลเซีย พร้อมทำถนนเชื่อมต่อสะเดา-บูกิตกายูฮีตัม หวังก่อสร้างแล้วเสร็จใน 1.6 ปี เปิดใช้ตามแผนปฏิบัติการ 2569 นี้ หลังสร้างด่านฯ เสร็จ แต่ไม่สามารถเปิดใช้งานได้กว่า 5 ปี
วันนี้ (23 พฤษภาคม 2566) เวลา 09.00 น. (ตามเวลาประเทศมาเลเซีย) ที่ โรงแรม Pulse Grand putrajaya ประเทศมาเลเซีย นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคฝ่ายไทย นำคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายกองเอก พุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายเผดิมเดช มั่งคั่ง นายด่านศุลกากรสะเดา พันเอก จีระศักดิ์ บรรเทิง แม่กองสนามจัดทำหลักเขตแดนไทย – มาเลเซีย กรมแผนที่ทหาร ดร.ดนัย เรืองสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ กรมทางหลวง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค (Expert Working Group-EWG) ร่วมไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 2 โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮีตัม เพื่อเป็นการพัฒนาเมืองชายแดนให้มีความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษกิจในอนาคต โดยมี Mr. Muhammad Haizul Azreen bin Usol Ghafli Deputy Undersecretary, Ministry of Works เป็นประธานฝ่ายประเทศมาเลเซีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับและร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
โดยที่ประชุม มีการอภิปราย ประเด็นปัญหาที่ยังคงค้างจากการประชุมที่ผ่านมา อาทิ จุดเชื่อมต่อถนนไทย-มาเลเซีย ยังไม่ตรงกัน มุมของทางต่อยังไม่ขนานกัน ฯลฯ โดยฝ่ายไทยได้มีการนำคณะทำงานฝ่ายไทย ลงศึกษาพื้นที่จริงแล้วสำรวจเพื่อออกแบบตามข้อเสนอของมาเลเซียช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามแบบของมาเลเซียโดยไม่มีผลกระทบในเชิงวิศวกรรมและเขตชายแดนของประเทศไทยแต่อย่างใด ดังนั้น ในที่ประชุม EWG ครั้งที่ 2 นี้ ที่ประชุมมีมติรับข้อเสนอของประเทศมาเลเซีย เพื่อปรับปรุงแบบ รวมทั้งข้อห่วงใยร่วมกันให้มีความสอดคล้องกัน โดย จำนวน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ปรับแบบถนนเชื่อมต่อด่านทั้งสอง โดยยังคงไว้ที่จุดเชื่อมต่อที่ BP23/9 – 23/10 จํานวน 6 ช่องจราจร เพื่อให้เป็นไปตามความร่วมมือตามที่นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียและประเทศไทย ได้มีการประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 9 -19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา 2. ปรับแนวถนนเชื่อมต่อกับตําแหน่งศูนย์กลางของถนน (Center Line and Angel) ระหว่างหลักเขตแดน ที่ 23/9 ถึงหลักเขตแดนที่ 23/10 มีระยะทาง 83.88 เมตร ให้มีขนาดเท่ากันระหว่าง 2 ประเทศ และ 3. ปรับมุมองศาเเนวถนนของฝ่ายไทยใช้ 108 องศา ให้สอดคล้องทางมาเลเซียให้ 129 องศา ซึ่งการบรรจบของ Center Line ฝั่งมาเลเซียจะไม่ตรงกับฝั่งไทย มีระยะห่างประมาณ 1.07 เมตร ทั้งนี้แนว Alignment ที่จะต้องปรับแนวของฝั่งไทยอาจเกิดข้อจํากัดในเรื่องของรัศมีโค้งที่ติดกับเส้นแบ่งเขตแดน จึงเสนอให้ทั้งสองประเทศจำกัดความเร็วก่อนถึงเขตเเดนโดยปรับลดจาก 80 km/hr. เหลือเพียง 50 – 60 km/hr.
นอกจากนี้ ที่ประชุมทางฝ่ายมาเลเซีย ได้หารือกรอบระยะเวลาร่วมกันในการสำรวจเพิ่มเติม รวมทั้งการปรับปรุงรายละเอียดย่อย ซึ่งจะมีการกำหนดหารือวงย่อยกันให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยเริ่มตั้งเเต่เดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป กำหนดให้คณะทำงานฝ่ายเทคนิคไทยและมาเลเซีย เดินทางไปในพื้นที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่จริงก่อนจะนำไปออกแบบทางวิศวกรรมอีกครั้งหนึ่ง และกำหนดประชุม คณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค (Expert Working Group: EWG) ร่วมไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 3 โดยเร็วเพื่อเห็นชอบแบบและแผนการดำเนินการพร้อมกรอบระยะเวลาต่อจากนี้ โดยกำหนดกรอบคร่าว ๆ ไว้ที่ 1 ปี 6 เดือน แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง กรอบการดำเนินงานก็อยากให้คงไว้ที่ 1 ปี 6 เดือน และในระหว่างนี้ ทั้ง 2 ปนะเทศ จะได้มีการหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่งจัดทำเป็น MOA ระหว่างสองประเทศโดยให้รัฐบาลเป็นผู้มอบหมายผู้ลงนาม
ด้านฝ่ายประเทศไทย ได้มีข้อเสนอให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับการบริหารการพัฒนาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานที่มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ จะเป็นหน่วยในการจัดทำ MOA และพิจารณาเสนอต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป เพื่อให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮีตัม ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด และการประชุมในวันนี้ได้มีการชี้แจงประเด็นทางเทคนิคและคำถามที่แต่ละฝ่ายอาจมีเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ยิ่งทำโครงการฯ เสร็จเร็วเท่าไหร่ ประชาชนทั้ง 2 ประเทศก็จะได้รับประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกที่กำลังจะเกิดขึ้นในการเชื่อมต่อนี้เร็วขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมในวันนี้ผ่านไปอย่างลุล่วงด้วยดี จึงได้มีข้อตกลงความร่วมมือ ในการออกแบบ และแผนปฏิบัติการร่วมกันที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยทั้ง 2 ฝ่าย ให้ความสำคัญว่า การพัฒนาจุดเชื่อมต่อบริเวณด่านการค้าชายแดนของทั้ง 2 ประเภท จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาเศรษฐกิจและมิตรสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตามที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้เกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของพื้นที่ในระยะต่อไปโดยเร็ว