เกลี้ยงแผง คอหวยแห่ส่อง “เลขเด็ด” พิธีบวงสรวงแบบเขมรโบราณ ลุ้นงวด 16/4/67

เกลี้ยงแผง คอหวยแห่ส่อง “เลขเด็ด” พิธีบวงสรวงแบบเขมรโบราณ ลุ้นงวด 16/4/67

ชาวบ้านคึกคัก แห่ส่อง “เลขเด็ด” พิธีบวงสรวงแบบเขมรโบราณ ในงานประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปนโบราณพันปี เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย


วันที่ 12 เมษายน 2567  เวลา 09.00 น. นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต 6 นายอภิวัฒน์ พัวภัทรพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลดม นางสาวณิชาภา พัวพัฒนโชติ สมาชิกสภาจังหวัดสุรินทร์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ประชาชนชายอำเภอสังขะ ได้เข้าร่วมงาน “ประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน” ครั้งที่ 25 ณ บริเวณปราสาทภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อสืบสานประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นแบบเขมรโบราณ และร่วมประชาสัมพันธ์แหล่งโบราณสถาน “ปราสาทภูมิโปน” ซึ่งเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

โดย นายอภิวัฒน์ พัวภัทรพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลดม กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการสืบสานประเพณีและศิลปะวัฒนธรรมของตำบลดม ซึ่งเป็นประเพณีและวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณ พิธีบวงสรวงเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว มีการประกวดอาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนของดีตำบลดม โดยเฉพาะผ้าไหมลายภูมิโปน

ด้าน นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต 6 กล่าวว่า ปราสาทภูมิโปน เป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ศิลปะแบบไพรเกมร ประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทอิฐหลังที่ 1 อยู่ทางด้านเหนือสุด มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม เหลือเพียงฐานกรอบประตูทางเข้า และผนังบางส่วน ปราสาทอิฐหลังที่ 2 อยู่ต่อจากปราสาทหินหลังแรกมาทางใต้   

ปัจจุบันเหลือเพียงฐานและกรอบประตูทรายปราสาทอิฐหลังที่ 3 หรือปรางค์ประธานเป็นปราสาทหลังใหญ่ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสไม่ย่อมุม มีบันไดและประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก อีกสามด้านเป็นประตูหลอก เสาประดับ กรอบประตู และทับหลังทำด้วยหินทราย ใต้หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไปเป็นลายรูปใบไม้ม้วน รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้าง เทียบได้กับปราสาทขอมสมัยก่อนพระนครร่วมสมัยกับปราสาทหลังที่ 1 ได้พบจารึกเป็นภาษาสันสกฤตด้วย อักษรปัสสวะ ซึ่งเคยใช้เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งสอดคล้องกับอายุของรูปแบบศิลปะของปราสาท นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และปราสาทอิฐหลังที่ 4 อยู่ต่อจากปราสาทประธานมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานเท่านั้น

ปราสาทภูมิโปน มีตำนานเล่าขานกันว่า กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่า ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบมีข้าศึกมาประชิตเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิโปน พระราชธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์ หรือ เนียง ด็อฮฺ ธม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่ แต่ด้วยกิตติศัพท์ความงามของนางเป็นที่โจษขานไปทั่ว จึงเป็นที่หมายปองของพระราชาเมืองต่างๆ ที่ต้องการพระนางมาเป็นพระชายา

แต่แล้วก็มีชายหนุ่มเพียง 2 คน คือ เจ้าชายโฮลมา แห่งเมืองโฮลมา และนายบุญจันทร์ ทหารคนสนิท ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสร้างสายสัมพันธ์กับพระนาง สุดท้ายแล้วพระนางศรีจันทร์จะเลือกชายใดเป็นสามี และปริศนาของต้นลำเจียกที่ไม่เคยออกดอก จนเกิดเป็นตำนานปราสาทภูมิโปน “เนียง ด็อฮฺ ธม” ที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลดมได้จัดงานประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปนขึ้นเป็นครั้งที่ 25 โดยในช่วงเย็นจะมีการเดินแบบแฟชั่นผ้าไหม การแสดงแสง สี เสียง ตำนานเนียง ด็อฮฺ ธม ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา

ทั้งนี้ในพิธีบวงสรวงปราสาทภูมิโปน ชาวบ้านได้จุดธูปเสี่ยงทายขอโชคลาภ เพราะที่ผ่านมานั้นเวลาจัดพิธีบวงสรวงชาวบ้านก็มักจะได้รับโชคลาภจากพิธีดังกล่าวอยู่เป็นประจำ ซึ่งการจุดธูปเสี่ยงทายในวันนี้ ปรากฏได้เลข 842 ทำเอาแผงหวยทุกแผงในอำเภอสังขะขายเกลี้ยงในเวลาไม่นาน.

ที่มา:thairath

ผู้นำเสนอข่าว

ยัยแม่มด

Written by:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *