5 คำถามที่ทำให้เข้าใจ นิรโทษกรรมคดีการเมือง

5 คำถามที่ทำให้เข้าใจ นิรโทษกรรมคดีการเมือง

ประชาชนชุมนุมต่อต้านการผลักดันกฎหมายพ.ร.บ.นิรโทษกรรม “ฉบับสุดซอย” ของพรรคเพื่อไทย เมื่อ พ.ย. 2556
เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วนับจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 5 ต.ค. โดยคาดหวังว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็น “หมุดหมายในการคืนชีวิตใหม่ให้แก่ประชาชน” และทำให้ “สังคมกลับมาเริ่มต้นกันใหม่

ทว่าได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากทั้งคนในและนอกสภา เมื่อแกนนำพรรค ก.ก. ระบุว่า การนิรโทษกรรมจะครอบคลุมถึง “คดี 112” หรือคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

จุดเริ่มต้นของการนิรโทษกรรมระลอกใหม่จะลงเอยอย่างไร บีบีซีไทยสรุป 5 คำถาม-คำตอบน่าสนใจเกี่ยวการนิรโทษกรรมในการเมืองไทย

  1. นิรโทษกรรมคืออะไร?
    นิรโทษกรรมคือการออกกฎหมายยกเว้นความผิดให้แก่การกระทำบางอย่าง ทำให้ผู้กระทำผิดก่อนหน้านี้ ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ โดย “เสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำนั้น ๆ มาก่อน”

โดยทั่วไป กฎหมายนิรโทษกรรมจะกำหนด 3 เงื่อนไขคือ ระยะเวลาในการกระทำผิด ตัวผู้กระทำความผิด และประเภทของความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

ผลที่ตามมาคือ

หากผู้ได้รับการนิรโทษกรรมเป็นผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้อง “หยุดคดี” ระงับการสอบสวนหรือส่งฟ้อง
ถ้าเป็นจำเลยในชั้นศาลแล้ว พนักงานอัยการต้องถอนฟ้อง ถ้าอัยการไม่ถอนฟ้อง จำเลยอาจร้องขอหรือศาลเห็นเอง ก็อาจพิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดีได้
ถ้าเป็นผู้ต้องขังที่กำลังรับโทษอยู่ ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง เสมือนว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดมาก่อน
จุดน่าสังเกตคือ การนิรโทษกรรมไม่ได้ลบล้างข้อเท็จจริงว่าได้กระทำผิด แต่เป็นการลบล้างองค์ประกอบของกฎหมาย ทำให้ไม่ต้องรับโทษ

  1. ไทยเคยนิรโทษกรรมมาแล้วกี่ครั้ง?
    ประเทศไทยเคยออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหตุการณ์ทางการเมืองมาแล้วอย่างน้อย 23 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นหลังปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 ภายหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง จาก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น ระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2475 มีเนื้อหา 3 มาตรา กำหนดให้บรรดาการกระทำทั้งหลายของคณะราษฎร หากเป็นการละเมิดกฎหมาย ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย

จากนั้นในรอบ 9 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาคณะรัฐประหาร 11 ครั้ง โดย 9 ครั้ง ออกในรูปแบบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไม่ว่าจะเป็น รัฐประหารปี 2476, 2490, 2494, 2500, 2501, 2514, 2519, 2520, 2534

ทว่ากับการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกเขียนนิรโทษกรรมตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มาตรา 37 และรัฐธรรมนญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 48 ตามลำดับ
คปค. เป็นคณะรัฐประหารชุดแรกที่เขียนนิรโทษกรรมตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549

นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในเหตุการณ์อื่น ๆ อีก 11 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการนิรโทษกรรมจากเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง 3 ครั้ง ได้แก่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2535

ในเหตุการณ์หลัง เป็นการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17-21 พ.ค. 2535 โดยยกเว้นความผิดให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ต่อมา 154 สส. ได้ยื่นเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง คือ ไม่เป็นกรณีประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การออกกฎหมายนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แล้ว

สุดท้าย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 7 ต.ค. 2535 มีมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป แต่ไม่กระทบกับการนิรโทษกรรมที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในระหว่างที่ใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าว

  1. ทำไมนิรโทษกรรมถึงเป็นของแสลงการเมืองไทย?
    แม้ผู้ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมทุกยุค อ้างเหตุผลเรื่องการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อในคำพูดมากกว่าการกระทำ

ภาพการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าสภาและพิจารณาอย่างเร่งรีบเมื่อ 10 ปีก่อน น่าจะยังติดตาติดใจใครหลายคน แม้แต่คนเพื่อไทยเองก็ยอมรับว่า “มีประสบการณ์เรื่องนิรโทษกรรมที่ได้รับความเจ็บปวด”

สุเทพ เทือกสุบรรณ สส. พรรคประชาธิปัตย์ (ในเวลานั้น) เป่านกหวีด-ระดมพลต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ “สุดซอย-เหมาเข่ง” เมื่อ 31 ต.ค. 2556 เพราะเชื่อว่าไม่ได้มีเป้าหมายช่วยผู้ชุมนุมคนตัวเล็กตัวน้อย แต่มีวาระซ่อนเร้นในการ “ล้างผิด” และ “ฟอกขาว” ให้แก่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีทุจริตอยู่ในต่างประเทศ (ในเวลานั้น)

ก่อนที่ “มวลชนนกหวีด” จะกลายร่างเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และยกระดับเป้าหมายจาก ล้มกฎหมาย เป็น ขับไล่รัฐบาลน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งจบลงด้วยการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 โดย คสช. ในท้ายที่สุด สิ้นสุดภารกิจการชุมนุม 204 วันของ กปปส.

การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อปี 2556 จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบรัฐบาลยิ่งลักษณ์

  1. นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลเป็นอย่างไร?
    หัวหน้าพรรคก้าวไกลยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ต่อประธานรัฐสภา 5 ต.ค. โดยระบุว่าตั้งใจยื่นก่อนถึงวันครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมืองของก้าวไกล ที่รอการบรรจุเข้าสภา มีเนื้อหา 14 มาตรา กำหนดให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นความผิดทางกฎหมาย ในช่วงเวลาตั้งแต่ 11 ก.พ. 2549 ถึงวันที่ พ.ร.บ. นี้ได้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง

ถ้าดูตามระยะเวลาที่พรรค ก.ก. เขียนไว้ในร่างกฎหมาย มีแกนนำและผู้ชุมนุมทางการเมืองเข้าข่ายได้รับอานิสงส์หลากหลายกลุ่ม

2549-2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
2552-2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
2556-2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
2557-2562 ขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายต่อต้าน คสช.
2563-2546 คณะราษฎร/ราษฎร และเครือข่าย
ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับการลบล้างความผิดหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะพรรค ก.ก. ตั้งเงื่อนไขว่า จะไม่มีผลรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ไม่ว่าเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่ากระทำในขั้นตอนใด หากเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ, ไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดต่อชีวิต และความผิดตามมาตรา 113 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยชี้เป้าไปที่นายพลผู้ก่อรัฐประหารโค่นล้มการปกครองของรัฐบาลพลเรือน ทว่าโดยเทคนิคทางกฎหมาย ผู้นำรัฐประหารได้ชิงออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองไปหมดแล้ว

แต่ทั้งหมดนี้จะมี คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง เป็นคนเคาะขั้นสุดท้ายว่าจะให้นิรโทษกรรมให้คนกลุ่มไหน อย่างไร และประเภทของการกระทำผิดคืออะไร

  1. แรงต้านนิรโทษกรรมคดี 112 รุนแรงแค่ไหน?
    ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของก้าวไกลนั้นมีความสลับซับซ้อนกว่ายุคเพื่อไทย เพราะนักการเมืองก้าวไกลตีความว่าคดี 112 เป็นส่วนหนึ่งของ “คดีทางการเมือง” และมองว่าจำเป็นต้องรวมเรื่องนี้เข้าไปด้วย เพราะมีนัยสำคัญกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน แต่ชัยธวัชยอมรับว่าเป็น “คดีที่สร้างความรู้สึกไม่พอใจทางการเมืองอย่างรุนแรง”

นับจากเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 239 คน ใน 258 คดี ตามการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
การนิรโทษกรรมคดี 112 ทำให้สังคมไม่มั่นใจในชะตากรรมของกฎหมายนิรโทษกรรมระลอกใหม่ แม้พรรค ก.ก. มีจำนวน สส. มากที่สุดในสภาก็ตาม

อย่าลืมว่าที่พลพรรคก้าวไกลต้องตกที่นั่งฝ่ายค้านในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ สว. และ สส. บางส่วนไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้เสียงสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ก.ก. ในรัฐสภาไม่เพียงพอต่อการส่งเขาเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยคนกลุ่มเดียวกันนี้เริ่มออกมาดักคอไว้แล้วว่าการนิรโทษกรรมต้องไม่รวมคดี 112 เข้าไปด้วย

ในระหว่างนี้ หัวหน้าพรรค ก.ก. จึงเดินสายพบปะพูดคุยกับฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในทางลับและทางแจ้ง ที่ปรากฏเป็นข่าวคึกโครม หนีไม่พ้น กรณีเข้าพบ สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ และอดีตแกนนำ กปปส.

อีกคำถามที่พรรคสีส้มต้องตอบสังคม หนีไม่พ้น คำครหาเรื่องการออกกฎหมายล้างผิด-เอื้อประโยชน์พวกพ้องหรือไม่ เนื่องจากแกนนำคณะก้าวหน้า/ก้าวไกลบางส่วนมีคดี 112 ติดตัว ซึ่งหัวหน้าพรรค ก.ก. เชื่อว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และแกนนำพรรคที่โดนคดีการเมืองจะยื่นขอไม่ใช้สิทธิเพื่อเข้าสู่การพิจารณานิรโทษกรรม ซึ่งร่างกฎหมายของพรรค ก.ก. เปิดช่องให้สละสิทธิได้

นอกจากร่างของพรรค ก.ก. ยังมีร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ฉบับพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ให้ลบล้างความผิดย้อนหลังตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549-30 พ.ย. 2565 แต่ไม่รวมความผิดคดีทุจริต และคดี 112

ขณะที่พรรค พท. ในฐานะแกนนำรัฐบาลออกมาประกาศว่า

มีความพร้อมที่จะยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกบกับร่างของพรรค ก.ก. แต่เสนอว่าให้ดึงวาระร้อนไปพูดคุยในที่ประชุมวงเล็กก่อน โดยเตรียมเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาเพื่อพูดคุยเรื่องการนิรโทษกรรม ก่อนเสนอร่างกฎหมายฉบับเพื่อไทย

ที่มา:

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ

Role,ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

    ผู้นำเสนอข่าว

    ยัยแม่มด

    Written by:

    ใส่ความเห็น

    อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

    You May Have Missed