“นายกฯ แพทองธาร” ร่วมแสดงความอาลัย “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” อดีตนายกฯ และอดีตองคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม สิริอายุ 97 ปี
เมื่อเวลา 22.27 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ต่อการถึงแก่อสัญกรรมของ ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตองคมนตรี ในรัชกาลที่ 9 สิริอายุ 97 ปี ว่า “ขอแสดงความเสียใจและขอไว้อาลัยต่อการถึงแก่อสัญกรรมของศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตองคมนตรี นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญอีกครั้งหนึ่งของสังคมไทย”
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 โดยมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
ประวัติ “ธานินทร์ กรัยวิเชียร”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ประวัติโดยสังเขปของ ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2470 ภูมิลำเนา ณ จังหวัดพระนคร สมรสกับ คุณหญิงคาเรน กรัยวิเชียร (สกุลเดิม แอนเดอเซ่น) มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 5 คน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น พ.ศ. 2479 ต่อมาในพ.ศ. 2491 ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อที่ ณ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และ พ.ศ. 2496 เนติบัณฑิตอังกฤษจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา สำนักเกรย์สอินน์ ประเทศอังกฤษ

ในช่วงชีวิตการทำงาน ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ เคยเป็น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ศาสตราจารย์สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย เมื่อช่วงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 จากนั้นดำรงตำแหน่ง องคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2520 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และยังได้ดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการ กรรมการร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงเป็นประธาน, รองประธานกรรมการ, กรรมการ อีกหลายคณะ
ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทย ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหารรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 สาเหตุที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจาก ขณะที่พลเรือเอกสงัด เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ทรงพระราชทานคำแนะนำแก่ พลเรือเอกสงัด ให้ปรึกษา ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ซื่อสัตย์สุจริตที่สุดคนหนึ่ง โดยภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้ทำการรัฐประหารแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนสิ้นรัชกาล เมื่อรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่องคมนตรีในคราวเดียวกันไม่ได้ ดังนั้น คณะองคมนตรีจึงได้มีมติเลือก ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/