“เศรษฐา” โหวตฉลุยนั่งนายกฯ คนที่ 30

“เศรษฐา” โหวตฉลุยนั่งนายกฯ คนที่ 30

ผลโหวตนายกฯ รอบ 3 : “เศรษฐา” ฉลุยนั่งนายกฯ คนที่ 30 “เศรษฐา ทวีสิน” พรรคเพื่อไทย ผ่านฉลุยมติที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียงจาก 705 เสียง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในนามของพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวจับมือตั้งรัฐบาลเพื่อไทย 314 เสียงกับ 11 พรรคการเมือง ซึ่งมีสส.พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมกับเปิดโควตาจัดสรรกระทรวงอย่างลงตัวด้วยหลังผ่านการเลือกตั้ง 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ผลโหวตนายกฯรอบ 3 เห็นชอบ เกิน 374 เสียง ให้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ขณะที่ สว. ที่มาจากเหล่าทัพ ยังคงโหวตงดออกเสียง

วันที่ 22 ส.ค. 2566  ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระเรื่องด่วน การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ภายหลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ต่อสภา และมีการอภิปรายคุณสมบัติกันอย่างกว้างขวาง

ต่อมาเวลา 15.11 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า การลงคะแนนจะเป็นแบบเปิดเผย และจะเป็นการเรียกชื่อตามลำดับอักษรเป็นรายคนโดยต้องได้รับเกินกึ่งหนึ่งหรือมากกว่าเกิน 374 เสียงขึ้นไป

จากนั้นเวลา 15.20 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เปิดให้สมาชิกลงคะแนนโหวตนายกฯคนที่ 30 ขั้นตอนการลงมติจะขานชื่อโดยเปิดเผยมีคณะกรรมการนับคะแนนโดยเป็นสมาชิกรัฐสภา 6 คน โดยเรียงลำดับตามตัวอักษร มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง สส.โดยจากการนับองค์ประชุม 705 คน

โดยล่าสุดเมื่อเวลา 16.49 น. ผ่านมาเกินกว่าครึ่งทางแล้ว ผลปรากฏว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้โหวตเห็นชอบเกิน 374 เสียง ไม่เห็นชอบ 144 เสียง  งดออกเสียง 67 เสียง

ต่อมาสมาชิกรัฐสภาได้ลงคะแนนเสร็จสิ้น จากนั้นเวลา 17.40 น. ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ได้แจ้งว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 482 เสียง (สส.330+สว.152) ไม่เห็นชอบ 165 เสียง (สส.152+สว.13) งดออกเสียง 81 เสียง (สส.13+สว.68) เป็นอันว่า นายเศรษฐา ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า มติที่ประชุมเห็นชอบให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะสั่งปิดประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ส่วนใหญ่โหวตเห็นชอบให้กับนายเศรษฐาเกินกว่า 100 คน ขณะที่ สว. ที่มาจากเหล่าทัพ โหวตงดออกเสียง ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 11 พรรค ยังคงไม่แตกแถว ขานชื่อโหวตเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม ในการโหวตครั้งนี้ นักการเมืองที่ไม่เห็นชอบนายเศรษฐา เช่น นายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานรัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล โหวตไม่เห็นชอบ

ประวัติ เศรษฐา ทวีสิน

“เศรษฐา ทวีสิน” มีชื่อเล่นว่า “นิด” เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ปัจจุบันอายุ 60 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการเงินจาก Claremont Graduate School สหรัฐอเมริกา เขาเริ่มการทำงานในปี 2529 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท P&G ประเทศไทย (จำกัด) ก่อนหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลประกอบการในปี 2564 มีรายได้ถึง 29,747.52 ล้านบาท และกำไร 2,017.28 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน เศรษฐา ยังเป็นผู้นำทางความคิดที่ขับเคลื่อนแนวคิดใหม่ๆ ให้กับวงการอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแวดวงอสังหาฯ (Prop Tech) การผลักดันเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและองค์กร จนแสนสิริได้เป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบด้านความเท่าเทียม ไปจนถึงการตั้งเป้าให้แสนสิริเป็นองค์กร Net-zero ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

จากวิสัยทัศน์และประสบการณ์ที่น่าสนใจของเศรษฐา จึงทำให้เขาเป็นที่สนใจของแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ได้หารือกันและมองเห็นว่า เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยในยามที่ต้องได้รับการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาจากโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ผ่านประสบการณ์และความสำเร็จจากการบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ และมีแนวคิดในเชิงสังคม เข้าใจปัญหาสังคมไทย

งานด้านการเมือง

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ผู้ยืนยัน ระหว่างการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ที่จังหวัดเลย ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่จับมือกับ พรรคพลังประชารัฐและ รวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีส่วนร่วมในการรัฐประหาร

หากย้อนไปใน พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เศรษฐา ได้ประกาศว่า ได้สมัครเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย และ มีนาคมปี 2566 พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งให้เขาเป็น ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวของพรรคเพื่อไทย คือเป็นที่ปรึกษาให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นเศรษฐา ได้ลาออกจากแสนสิริโดยไม่รับเงินเดือน พร้อมโอนหุ้นที่เคยถืออยู่ในบริษัทจำนวน 13 แห่ง ให้บุคคลอื่น รวมถึงชนัญดา บุตรคนเล็กของเขาอีกด้วย

ทั้งนี้ เขาให้สัมภาษณ์กรณี การเดินทางกลับของ นายทักษิณ ชินวัตร ว่า เป็นความต้องการของทักษิณเอง ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย

ผู้นำเสนอข่าว

มังกรทลายฟ้า

Written by:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Have Missed