“นายกฯอิ๊งค์” เปิดฉาก “บิมสเทค” ชูวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ผนึกกำลังยกระดับชาติสมาชิก “มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” ชงตั้ง FTA ปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ-การค้า เชื่อมไทย-เมียนมา ทะลุถึงอินเดีย มุ่งร่วมมือเวทีระดับโลก ชื่นมื่นพา “นายกฯอินเดีย” เที่ยววัดโพธิ์ ก่อนลงนามความร่วมมือ 6 ฉบับ จับเข่าคุยทวิภาคี “มิน อ่องหล่าย” เจอม็อบบุกต้านถึงหน้าโรงแรม “ชูศักดิ์” เชื่อพรรคร่วมไฟเขียววาระแรก พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โต้ฝ่ายค้านแฉมีกลุ่มนายทุนรองาบกาสิโน “อ้วน” ซัดอย่าจิตนาการเกิน โฆษก ปชน.ขยี้ต่อ บี้เพื่อไทยแจงเหตุผลทำไมต้องลัดคิว
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเวทีประชุมประเทศสมาชิกความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล (บิมสเทค) (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation-BIMSTEC) เสนอวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ผนึกกำลังยกระดับชาติสมาชิก “มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง”
“แพทองธาร” เปิดฉากบิมสเทค
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 4 เม.ย. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กทม. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับและถ่ายภาพร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล (บิมสเทค) (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation-BIMSTEC) ก่อนเป็นประธานการประชุมบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง มีผู้นำและผู้แทนทั้ง 7 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรีเมียนมา นายเค พี ศรรมะ โอลี นายก รัฐมนตรีเนปาล และ น.ส.หริณี อมรสุริยะ นายกรัฐมนตรีศรีลังกา นายมูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลบังกลาเทศ

จับเข่าคุยทวิภาคี “มินอ่องหล่าย”
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี แถลงว่า ก่อนการประชุม น.ส.แพทองธารได้พบหารือทวิภาคีกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่กล่าวแสดงความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน สิ่งของแก่ประชาชนเมียนมา พร้อมกันนี้ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารือครอบคลุมทั้งความร่วมมือด้านการป้องกันพิบัติภัย ภัยธรรมชาติ และภัยจากมนุษย์ รวมทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด การลักลอบการค้าที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขบวนการออนไลน์ นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองฝ่าย ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” ยกระดับแก้ปัญหาฝุ่นละออง และหมอกควัน ที่ไทย สปป.ลาว และเมียนมา ร่วมดำเนินการ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมาก อีกทั้งไทยและเมียนมายังร่วมกันเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วม เตรียมพร้อมรับมือก่อนฤดูฝนในปีนี้
“นายกฯอิ๊งค์” เปิดฉาก “บิมสเทค” ชูวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ผนึกกำลังยกระดับชาติสมาชิก “มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” ชงตั้ง FTA ปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ-การค้า เชื่อมไทย-เมียนมา ทะลุถึงอินเดีย มุ่งร่วมมือเวทีระดับโลก ชื่นมื่นพา “นายกฯอินเดีย” เที่ยววัดโพธิ์ ก่อนลงนามความร่วมมือ 6 ฉบับ จับเข่าคุยทวิภาคี “มิน อ่องหล่าย” เจอม็อบบุกต้านถึงหน้าโรงแรม “ชูศักดิ์” เชื่อพรรคร่วมไฟเขียววาระแรก พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โต้ฝ่ายค้านแฉมีกลุ่มนายทุนรองาบกาสิโน “อ้วน” ซัดอย่าจิตนาการเกิน โฆษก ปชน.ขยี้ต่อ บี้เพื่อไทยแจงเหตุผลทำไมต้องลัดคิว
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเวทีประชุมประเทศสมาชิกความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล (บิมสเทค) (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation-BIMSTEC) เสนอวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ผนึกกำลังยกระดับชาติสมาชิก “มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง”
“แพทองธาร” เปิดฉากบิมสเทค
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 4 เม.ย. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กทม. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับและถ่ายภาพร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล (บิมสเทค) (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation-BIMSTEC) ก่อนเป็นประธานการประชุมบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง มีผู้นำและผู้แทนทั้ง 7 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรีเมียนมา นายเค พี ศรรมะ โอลี นายก รัฐมนตรีเนปาล และ น.ส.หริณี อมรสุริยะ นายกรัฐมนตรีศรีลังกา นายมูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลบังกลาเทศ

จับเข่าคุยทวิภาคี “มินอ่องหล่าย”
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี แถลงว่า ก่อนการประชุม น.ส.แพทองธารได้พบหารือทวิภาคีกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่กล่าวแสดงความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน สิ่งของแก่ประชาชนเมียนมา พร้อมกันนี้ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้หารือครอบคลุมทั้งความร่วมมือด้านการป้องกันพิบัติภัย ภัยธรรมชาติ และภัยจากมนุษย์ รวมทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด การลักลอบการค้าที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขบวนการออนไลน์ นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองฝ่าย ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตาม “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” ยกระดับแก้ปัญหาฝุ่นละออง และหมอกควัน ที่ไทย สปป.ลาว และเมียนมา ร่วมดำเนินการ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมาก อีกทั้งไทยและเมียนมายังร่วมกันเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วม เตรียมพร้อมรับมือก่อนฤดูฝนในปีนี้
บุกต้านผู้นำเมียนมาหน้าโรงแรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกันมีกลุ่มผู้ประท้วงชาวไทย ติดป้ายประท้วง “We do not Welcome Murderer Min Aung Hlaing” อยู่ที่บริเวณสะพานสาทร หน้าโรงแรมที่จัดการประชุม แต่เมื่อขึ้นป้ายได้ไม่นาน มีการเก็บป้ายดังกล่าวออกไป โดยมีสื่อพม่าอย่าง Myanmar Now ติดตามรายงานข่าวอยู่ด้วย
ชงบิมสเทค FTA ปลดล็อกการค้า
ต่อมาเวลา 11.00 น. ก่อนเริ่มประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ กล่าวแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบ จากนั้น น.ส.แพทองธารกล่าวเปิดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030” ว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจของบิมสเทค มีจำนวนประชากรรวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของโลก จึงเสนอให้สมาชิกเร่งผลักดันการจัดทำบิมสเทค FTA เป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล จะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์ของไทยจะช่วยเสริมการเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับอ่าวเบงกอล และมุ่งมั่นร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงสำคัญระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมไทย-เมียนมาจนถึงอินเดียให้เสร็จโดยเร็ว จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของโครงการนี้
ตั้งศูนย์ภัยพิบัติ–แก้อาชญากรรม
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า บิมสเทคจำเป็นต้องเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและความสามารถทางเทคโนโลยี โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI และ การเชื่อมต่อทางดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ ปัญหาเร่งด่วน และเตรียมความพร้อมของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อจัดการภัยพิบัติในกลุ่มบิมสเทค ไทยสนับสนุนข้อเสนอของอินเดียให้จัดตั้ง “ศูนย์จัดการภัยพิบัติ BIMSTEC” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถตอบสนองต่อ ภัยธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และขอเน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมทางไซเบอร์ ขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกดำเนินการตามอนุสัญญา BIMSTEC ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติด เพื่อยกระดับ ความมั่นคงในภูมิภาค และความยืดหยุ่นพร้อมต่อ การตอบสนองต่อภัยพิบัติ
เชื่อมบิมสเทคสู่เวทีระดับโลก
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาค SMEs จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตของบิมสเทค จึงขอเสนอจัดตั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจ BIMSTEC (BIMSTEC Business Advisory Council) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคธุรกิจ และเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว ขณะที่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในบิมสเทค ด้วยการส่งเสริม การท่องเที่ยวภายในภูมิภาค จะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจร่วมกัน และเน้นย้ำถึงบทบาทของบิมสเทค ในการส่งเสริมสันติภาพและ ความมั่งคั่งร่วมกัน ประเทศไทยในฐานะประธานปัจจุบันของกรอบ Asia Cooperation Dialogue (ACD) มุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือระหว่าง BIMSTEC กับเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการ พัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ในช่วงท้าย ที่ประชุมร่วมกันรับรองปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และประกาศให้บังกลาเทศเป็นประธาน BIMSTEC ลำดับถัดไป
เดินหน้า “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030”
น.ส.แพทองธารแถลงภายหลังการประชุมว่า แนวคิดหลักภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานบิมสเทค ของไทยคือ “บิมสเทค ที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศและ ความท้าทายในภูมิภาค บิมสเทคจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกัน วันนี้ผู้นำรัฐสมาชิกบิมสเทคได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ อาทิ วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ยืนยันเจตนารมณ์ของพวกเรา การเป็นสักขีพยานลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้า รวมถึงรับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา และไทย เป็นการแสดงความเสียใจความ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ไม่พูดถึงการเมืองภายในเมียนมา
นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงข้อซักถาม ของสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศว่า ที่ประชุมบิมสเทคครั้งนี้ไม่มีการหารือสถานการณ์การเมืองภายในของเมียนมา มีเพียงการพูดคุยถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น การที่ไทยในฐานะประธานการประชุมบิมสเทคครั้งนี้เชิญผู้นำเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นไปตามกฎบัตรของบิมสเทคที่ต้องเชิญผู้นำทุกประเทศมาร่วมประชุม รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจว่าข้อตกลงทุกอย่างจะได้รับการรับรองจากทุกประเทศสมาชิก เมื่อถามถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้า นายนิกรเดชตอบว่า ไม่ได้มีการหารือในที่ประชุม เป็นเพียงการหารือภายใต้ กรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศบิมสเทคเท่านั้น
ชื่นมื่นพา “นเรนทร” เที่ยววัดโพธิ์
จากนั้นเวลา 13.20 น. น.ส.แพทองธารมีการหารือทวิภาคีกับนายมูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศตาม ด้วยการหารือทวิภาคีกับ น.ส.หริณี อมรสุริยะ นายกฯ ศรีลังกา ในประเด็นความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน รวมไปถึงการเชื่อมโยงระหว่างกัน จากนั้นเวลา 15.00 น. น.ส.แพทองธารนำนายนเรนทร โมที นายกฯอินเดียเยี่ยมชมวัดพระเชตุพนวิมล มังคลาราม (วัดโพธิ์)
มองเป็นโอกาสคุยปัญหาเมียนมา
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมประชุมบิมสเทคว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ประสานผ่านการประชุมบิมสเทค ประเด็นสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่ว่ามีการประท้วงหรือไม่ประท้วง คิดว่าเขามีสิทธิมาร่วมสังเกตการประชุมนี้ คงมีโอกาสคุยปัญหาในเมียนมาด้วย ไม่เช่นนั้นการแก้ไขปัญหาของเมียนมาที่พูดกับทุกส่วนว่าอยากให้มีการแก้ไข จะไม่ได้แก้ อีกทั้งไทยเป็นประเทศใกล้ชิดกับเมียนมา ต้องดูว่าเรามุ่งหวังอะไร ดังนั้น รายละเอียดให้รอดูผลการประชุมว่ามีอะไรที่เป็นประโยชน์หรือไม่ แล้วค่อยมาพิจารณากัน ยังไม่อยากให้ความเห็นตอนนี้เพราะมีหลายเรื่องหลายปัจจัย ต้องรอให้ผลออกมาชัดเจนก่อน
“ชูศักดิ์” เชื่อพรรคร่วมผ่านวาระแรก
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การบริหารสถานบันเทิงครบวงจรหรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ว่า เท่าที่ดูพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันให้ตั้งกรรมาธิการและใช้ช่วงระหว่างปิดสมัยประชุมสภาพิจารณาแก้ไขได้อย่างเต็มที่ จากการพูดคุยกันคิดว่าจะเรียบร้อยและผ่านวาระแรกไปได้ เมื่อถามว่ามีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลรีบดันกฎหมายฉบับนี้ นายชูศักดิ์ตอบว่า กระบวนการตรากฎหมายไม่ใช่ทำแค่ 1-2 วัน ต้องผ่าน 3 วาระ ต้องตั้ง กมธ. ต้องใช้เวลานานและยังต้องผ่านวุฒิสภาอีก อย่าคิดว่ารัฐบาลเร่งรีบ ที่สำคัญกฎหมายนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
โต้ฝ่ายค้านแฉมีกลุ่มนายทุนรอ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านตั้งคำถามว่ารัฐบาลมีกลุ่มทุนรอ จึงทำให้เร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้ นายชูศักดิ์หัวเราะก่อนตอบว่า จะไปรอได้ยังไง นี่คือกระบวนการตามกฎหมาย จะออกมายังไงยังไม่รู้ จะมีการปรับเกณฑ์อะไรหรือไม่ กว่าจะเสร็จไม่ต่ำกว่า 6-8 เดือน ยืนยันว่าไม่มีใครรอหรือไม่รอ เป็นการเตรียมการปกติ เป้าหมายคือทำให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ เมื่อถามว่าที่ต้องเร่งผ่านตอนนี้เพราะเสียงรัฐบาลมีเสถียรภาพอยู่ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ตอบว่า เสียงรัฐบาลก็เป็นอยู่อย่างนี้ เราผ่านการพูดคุยทำความเข้าใจกันมา ทุกพรรคคิดว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหาเงินเข้าประเทศ เมื่อถามว่าเสียงคัดค้านจะทำให้นโยบายนี้ชะงักหรือไม่ ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและ สว. นายชูศักดิ์ตอบว่า คัดค้านได้ไม่มีปัญหา แต่เมื่อมาถึงขนาดนี้ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลของมัน ต้องชี้แจงด้วยเหตุผล เราเปิดโอกาสรับฟัง ส่วนขั้นตอนหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากจะมีการก่อสร้างในสถานที่ใดต้องตราเป็น พ.ร.ฎ. และต้องกำหนดพื้นที่มีแผนที่แนบท้ายว่าจะทำที่อำเภอหรือตำบลใด กี่ไร่ แล้วต้องนำเรื่องเข้า ครม.
“อ้วน” ซัด ปชน.อย่าจินตนาการเกิน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลรับฟังเสียงตำหนิติเตียนหลายอย่างอยู่แล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ เป็นปัญหาตอนไหนก็ไปแก้กัน เมื่อถามว่าฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าดูเหมือนเร่งรัดเกินไป เพราะมีกลุ่มทุนรออยู่หรือไม่ นายภูมิธรรมตอบว่า อย่าจินตนาการเป็นพิษเป็นภัยกับคนอื่นให้มาก คิดว่าเป็นแนวคิดที่อาจมีความแตกต่างกัน เพราะแนวคิดนี้เป็นการเอาของที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดิน
รทสช.โวยบิดเบือน สส.รบ.รีบเร่ง
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ยืนยัน สส.ฝั่งรัฐบาลไม่ได้เร่งรีบพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว และไม่จริงตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า สส.ฝั่งรัฐบาลรีบกลับบ้าน เป็นการใส่ร้ายบิดเบือน เราพร้อมทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนเต็มที่ เมื่อถามว่าการเสนอกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลเร่งรีบไปหรือไม่ นายธนกรตอบว่า เป็นเรื่องที่วิปรัฐบาลได้หารือกับ สส.พรรคร่วมรัฐบาล เป็นไปตามข้อบังคับสภา ส่วนตัวมองว่าเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ควรรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนให้รอบด้านให้เกิดความรัดกุม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและนักลงทุน
ปชน.ขยี้ต่อ พท.ไม่กล้าแจงลัดคิว
ด้าน น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวว่า เห็นพรรคเพื่อไทยโพสต์รวมทั้งสิ้น 6 โพสต์ เพื่อจะบอกว่าไม่ได้เลื่อนกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ขึ้นมาแซงคิวญัตติแผ่นดินไหว แต่ไม่มีแม้แต่บรรทัดเดียวที่บอกว่าทำไมต้องเลื่อนกฎหมายฉบับนี้มาแซงคิวกฎหมายอื่น เพื่อให้ผ่านวาระแรกทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ วันที่ 10 เม.ย. ปกติร่างกฎหมายไหนที่มีความสำคัญ พรรคที่เสนอกฎหมายมักสื่อสารล่วงหน้า แต่กฎหมายฉบับนี้สำคัญกับพรรคเพื่อไทย ถึงขั้นต้องลัดคิวมาอยู่คิวแรก โดยที่ไม่มีการสื่อสารอะไรเลย แถมยังเสนอปิดอภิปราย แบบนี้จะให้ประชาชนมองอย่างไร บ้านเมืองมีหลายเรื่องที่สำคัญเร่งด่วน รอรัฐบาลบริหารจัดการ ทั้งแผ่นดินไหว การรับมือนโยบายภาษีทรัมป์ การจัดการไฟป่าในภาคเหนือ ฯลฯ ที่รัฐบาลไม่มีขยับ อยากให้พรรคเพื่อไทยช่วยโพสต์สัก 1 โพสต์เพื่อบอกว่าตกลงแล้วสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้คืออะไร จำเป็นเร่งด่วนกับประเทศอย่างไร ทำไมต้องรีบขนาดนี้ ยืนยันไม่มีใครไปบิดเบือนได้ ประชาชนมีอินเตอร์เน็ต เขาดูการประชุมสภาเห็นว่าอะไรเป็นอะไร หรือที่บอกเหตุผลไม่ได้เพราะคนได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชนคนส่วนใหญ่ใช่หรือไม่