จ่อเลิกสัญญากิจการร่วมค้าซีไอเอส สร้าง Terminal ใหม่สนามบินนราฯ ล่าช้ามาก

จ่อเลิกสัญญากิจการร่วมค้าซีไอเอส สร้าง Terminal ใหม่สนามบินนราฯ ล่าช้ามาก

“มนพร” สั่งฟันกิจการร่วมค้าซีไอเอส มีชื่อ “ไชน่า เรลเวย์” ที่สร้างตึก สตง. ร่วมด้วย เล็งยกเลิกสัญญาจ้างสร้าง Terminal ใหม่สนามบินนราธิวาส พร้อมขึ้นแบล็กลิสต์เป็นผู้ทิ้งงาน ห้ามรับงานภาครัฐ หลังล่าช้าต่ำกว่าเกณฑ์มาก

วันที่ 2 เมษายน 2568 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ดำเนินโครงการจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร (Terminal) หลังใหม่ และสิ่งก่อสร้างประกอบอื่นๆ พร้อมครุภัณฑ์อำนวยความสะดวก ท่าอากาศยานนราธิวาส ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส 1 แห่ง วงเงิน 639.89 ล้านบาท โดยมีผู้รับจ้าง คือ กิจการร่วมค้าซีไอเอส ประกอบด้วย บริษัท ไอเอสโอ เอนจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัดนั้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มสัญญาตั้งแต่รัฐบาลยุคที่แล้ว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 และสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 แต่ด้วยเมื่อช่วงปลายปี 2567 ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่นราธิวาส ทำให้ได้รับการขยายอายุสัญญา โดยผลงานของโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีความคืบหน้าเพียง 0.64% ส่งผลให้ภาพรวมของโครงการล่าช้ากว่า 61.27% มีแนวโน้มว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา ดังนั้น ทย. จึงเชิญผู้รับจ้างเข้าประชุมเร่งรัดงานในวันที่ 4 มีนาคม 2568 โดยมีเงื่อนไขว่าหากภายใน 2 เดือน โครงการไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานเดือนละ 5% ทย. จะดำเนินการยกเลิกสัญญา และแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงานเนื่องจากผิดสัญญาจ้าง ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน อยู่ในช่วงติดตามผลการเร่งรัด ซึ่งผู้รับจ้างทำผลงานเดือนที่ 1 (มีนาคม 2568) ได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาก โดยมีความคืบหน้าเพียง 0.51% ส่งผลให้ภาพรวมโครงการคืบหน้าเพียง 39.24% ล่าช้ากว่าแผน 60.76% หรือล่าช้ากว่า 631 วัน ซึ่ง ทย. ส่งจดหมายเตือนและติดตามผลงานในเดือนที่ 2 ต่อไป หากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการเร่งรัดงานได้ตามที่กำหนด แสดงว่าผู้รับจ้างไม่มีความสามารถที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ ทย. จะดำเนินการยกเลิกสัญญาและแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงาน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถรับงานกับหน่วยงานรัฐได้อีก

นางมนพร ระบุต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ ทย. แจ้งไปยังที่ปรึกษาควบคุมงาน ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง มาตรฐานวัสดุ อุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับเหมาที่ได้ดำเนินการมาแล้วทั้งระบบอย่างละเอียด และให้รายงานทราบภายใน 3 วัน หากพบสิ่งผิดปกติ ให้รายงานและแก้ไขโดยเร่งด่วนด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมเน้นย้ำให้ทุกโครงการก่อสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง จะต้องได้มาตรฐานตามแบบแผนที่กำหนด รวมถึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และผ่านตรวจเช็กจากวิศวกรผู้ควบคุมงานอย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) เป็นหนึ่งในบริษัทที่ร่วมก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และภาครัฐกำลังดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน.

ที่มา ไทยรัฐ

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

4,052 Posts

View All Posts
Follow Me :