กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า แม้ภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในประเทศไทย นับสะสม 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-เมษายน 2567) จะลดลงเล็กน้อย 2.14% อยู่ที่ 31,533 ราย ขณะรวมทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 95,212 ล้านบาท ลดลง 73.59%
อย่างไรก็ดี พบ ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ ในเดือนเมษายน มีมากถึงจำนวน 6,530 ราย เพิ่มขึ้น 489 ราย รวมทุนจดทะเบียน 27,271.87 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 6,373.99 ล้านบาท หรือ 30.50% ตามความเคลื่อนไหวของสัญญาณเศรษฐกิจ
โดยนับว่าเป็น ยอดจดทะเบียนธุรกิจรายเดือนที่สูงที่สุดในรอบ 101 ปี ที่กระทรวงเปิดบริการมา โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจ
ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป
ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ขณะอีกตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ยอดการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติฯ พบว่า 4 เดือนแรก มีจำนวนสะสมทั้งสิ้น 253 ราย เพิ่มขึ้น 36 ราย หรือ 17%เกิดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 54,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,256 ล้านบาท หรือ 42% เมื่อเทียบกับปี 2566
โฆษณา และซีรีส์ “ธุรกิจมาแรง”
ด้านภาพรวม ธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจมากที่สุด ต้องยกให้กับธุรกิจด้านความบันเทิง ใน 2 กลุ่มธุรกิจ คือ
ธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัทโฆษณา เช่น การให้บริการด้านการออกแบบสร้างสรรค์การผลิตสิ่งต่างๆ ที่ใช้ ในการโฆษณา การวางแผนและการซื้อสื่อโฆษณา ในเดือนเมษายน 2567 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 106 ราย และมีแนวโน้มเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจที่ 32.50% เพิ่มขึ้น 26 ราย
โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 100% แสดงให้เห็นถึงธุรกิจขนาดย่อยสามารถการเข้าสู่อุตสาหกรรมโฆษณาได้มากยิ่งขึ้น
“ธุรกิจโฆษณามีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางบวก จากการเติบโตของสื่อดิจิทัลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ธุรกิจเกิดการแข่งขันกันสูง สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กลับมาจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจจึงต้องใช้โฆษณาเข้ามาช่วยดึงดูด สร้างการรับรู้ให้แก่ลูกค้าหันมาสนใจสินค้าหรือบริการ” อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าว
นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ ยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจดาวเด่นที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น ที่น่าสนใจและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยใน 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-เมษายน) มีธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 56 ราย เพิ่มขึ้น 12%
นับเป็นแนวโน้มที่จะมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาช่วยสนับสนุน แต่ที่สำคัญเป็นการปรับตัวของธุรกิจในอุตสาหกรรมหนังไทยให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและบริบทของสังคมไทย ที่มีการเปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
ซีรีส์วาย คืนชีพอุตสาหกรรมหนังไทย
โดยพระเอกที่มาช่วยพัฒนาวงการนี้คือ ซีรีส์วาย เป็นคอนเทนต์ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ได้จำกัดเพศ เปิดกว้างในการนำเสนอความรักในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซีรีส์วายสามารถสร้างมูลค่าในธุรกิจผลิตภาพยนตร์ให้กลับมา สร้างกำไรได้อย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างเม็ดเงินขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโฆษณา ดังที่กล่าวไปข้างต้น การสร้างมูลค่าจากตัวนักแสดงให้ไปเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด ธุรกิจจัดกิจกรรม (Event) และธุรกิจท่องเที่ยว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ผลิตซีรีส์วายกว่า 177 เรื่อง สามารถสร้างกระแสความนิยมเรื่อยมาและขยายกลุ่มลูกค้าในวงกว้างจนสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/