CEA – กทม. เปิดเทศกาล “Bangkok Design Week 2023”

CEA – กทม. เปิดเทศกาล “Bangkok Design Week 2023”

CEA – กทม. เปิดเทศกาล “Bangkok Design Week 2023”ปลุกพืันที่ย่าน ศก.สร้างสรรค์ 9 วัน 9 ย่าน ยกระดับมูลค่า ศก. สร้างสรรค์ สู่เมืองสร้างสรรค์โลก
 

เริ่มแล้ววันนี้ วันที่ 4 ก.พ.66 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ผนึกพลังร่วมกับ กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมเปิดเทศกาลเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 (BKKDW 2023) อย่างเป็นทางการ ในระหว่างวันที่ 4-12 ก.พ.66 ชูเทศกาลฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ไปต่อได้ ตลอด 9 วัน 9 ย่าน ภายใต้ ธีม “urban ‘NICE’ zation เมือง – มิตร – ดี” กิจกรรมกว่า 530 โปรแกรม คาดเงินสะพัดกว่า 300 ล้านบาท

ด.ร. อรรชกา ศรีบุญเรือง ประธานสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA กล่าวว่า การจัดงาน Bangkok Design Week 2023 (BKKDW2023) ครั้งนี้นับเป็นปีที่ประสบความสำเร็จจากความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของ CEA ที่ได้ร่วมพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างจุดเด่น สร้างมูลค่าให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิม พร้อมกับการยกระดับรายได้ให้กับชุมชน จนนำมาสู่การเข้าร่วมงานของ 9 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเทศกาลครั้งนี้ และออกแบบโปรแกรมต่างๆ ที่หลากหลายถึง 530 โปรแกรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในย่านต่างๆ ในพื้นที่กทม. ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ที่กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 7 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย

“CEA พร้อมที่จะเปิดรับย่านที่สนใจเข้าร่วมเทศกาลฯ ในปีต่อไป โดยการเข้าไปร่วมค้นหาอัตลักษณ์ของแต่ละย่านและมาสู่การวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การออกแบบสร้างสรรค์ในมุมต่างๆที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดการกระตุ้นการลงทุนใหม่ๆ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ และงานครั้งนี้แต่ละย่านมีไฮไลท์ที่น่าสนใจที่จะกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในกทม. ที่ทั้งจากคนไทยและต่างประเทศ ดังนั้นคาดว่าในปี 2566 จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น” ด.ร. อรรชกาฯ กล่าว 

สำหรับแนวคิดงานครั้งนี้คือ “urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี” เพื่อสร้างความ ‘น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว’ ใน 6 มิติด้วยกัน ทั้งในด้านมิตรดีต่อสิ่งแวดล้อม มิตรดีต่อการเดินทาง มิตรดีต่อวัฒนธรรม มิตรดีต่อชุมชน ธุรกิจ และความหลากหลายของผู้คนในสังคม ที่มีการออกแบบเป็นกิจกรรมใน 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. Showcase & Exhibition แสดงผลงานจากนักสร้างสรรค์นำเสนอแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิต
  2. Talk & Workshop กิจกรรมบรรยาย และเวิร์กช้อป เพื่อให้ความรู้และแนวคิดใหม่จากนักสร้างสรรค์
  3. Creative Market & Promotion เปิดตลาดนัดสร้างสรรค์ 6 ตลาดทั่วกรุงเทพฯ กว่า 80 แบรนด์ดีไซน์
  4. Event & Program กิจกรรมสร้างบรรยากาศ และความเคลื่อนไหวกับเมืองในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดงเป็นต้น

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดเทศกาลออกแบบกรุงเทพ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 (BKKDW 2023) ครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ ที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละย่าน ด้วยการใช้สินทรัพย์ในย่านมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น สอดรับกับแผนงานการจัดเทศกาล 12 เดือนของ กทม. ที่มีการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกทม. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นกิจกรรมสำคัญทำให้กรุงเทพฯ มีภาพลักษณ์เป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก สร้างผู้ประกอบการและคนรุ่นใหม่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนนโยบายของ กทม.ที่จะนำไปสู่การต่อยอด พลิกฟื้นเศรษฐกิจในย่านอื่นๆ ที่ประสบปัญหาซบเซา และสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตามการพัฒนาความเจริญของเมือง 
       
“การนำแพลตฟอร์มของการขับเคลื่อนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นของย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ จนสามารถเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีการยกระดับความเป็นอยู่ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนักออกแบบมืออาชีพเพื่อให้เกิดประโยชน์ และความร่วมมือกับชุมชนในย่าน”

ในการจัดเทศกาล #BKKDW2023 มี 9 ย่านที่เข้าร่วมเทศกาล ในพื้นที่ 12 เขต ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี ประกอบด้วย

1.ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย บนถนนสายแรกของประเทศไทย จากนั้นลัดเลาะเข้าไปในชุมชนเก่าที่กลายเป็น ‘ย่านต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ กว่า 200 โปรแกรม อาท Circular Café มีแนวคิดแบบ Zero Waste ตั้งแต่การตกแต่งพื้นที่และออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ต่างๆ ด้วยวัสดุรีไซเคิล การลดใช้พลังงานและทรัพยากรในการจัดการ ไปจนถึงการนำเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ สร้างสรรค์ออกแบบโดย QUALY ร่วมกับ HARV และ LMLM ร่วมทดลองเป็นผู้ผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบ

WASTE IS MORE สร้างสรรค์ออกแบบโดย MORE ด้วยการสร้างสรรค์และส่งต่อความคิดผ่านนิทรรศการ ที่จุดประกายความคิดที่ว่า “ไม่มีของเสีย มีเพียงทรัพยากรที่มีคุณค่า” ชวนวงการการออกแบบ วงการวิจัยและพัฒนาวัสดุ โรงงาน ผู้ประกอบการที่มีขยะอยู่ในมือ ใตแนวคิดความยั่งยืน สถานที่ : อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง,โถงกลาง โดยRe-Vendor เจริญกรุง 32 ที่มีการออกแบบของ CEA ร่วมกับ Cloud-Floor,CommDe/ID CU ,KU และ Street Vendors CRK32 ร่วมกันออกแบบเชิงทดลองของร้านค้าแผงลอย ในซอยเจริญกรุง 32 เพื่อสร้างนำเสนอสตรีทฟู้ดริมทางในรูปแบบใหม่ สถานที่ : ย่านเจริญกรุง,ซอยเจริญกรุง 32
 

2.ย่านเยาวราช บนพื้นที่ไชน่าทาวน์-ย่านเยาวราช ทรงวาด สำเพ็ง สู่การสร้างสรรค์ให้ย่านแห่งนี้ไม่มีวันหลับใหลและกลายเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ Bangkok City of Design ออกแบบโดย “City Trooper X Academic Program” เปิดประสบการณ์ใหม่ในย่านเก่าที่ไม่ได้มีดีแค่  สตรีทฟู้ดระดับโลกแต่ยังมีความเข้มข้นทางวัฒนธรรมจีนหลากหลายยุคสมัย

3.ย่านสามย่าน-สยาม ศูนย์รวมแหล่งการเรียนรู้ และศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ และสนามทดลองของคนสร้างสรรค์มาระดมไอเดียนอกกรอบในพื้นที่ เช่น Art4C  House of Passa Saratta และยังมี CASETiFY และ BKKDW2023 ออกแบบโดย CASETiFY แบรนด์ไลฟ์สไตล์และอุปกรณ์เสริมเทคโนโลยีระดับโลก สร้างคอลเลคชั่น“เคสโทรศัพท์” ที่สะท้อนบริบทกรุงเทพฯ โดยศิลปินไทย 10 ท่าน  

4.ย่านพระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง เมืองเก่าที่มีความคลาสสิกสะท้อนความเจริญของยุคสมัย พร้อมวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นนำมาต่อยอดสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์ สู่บริบทใหม่ของกรุงเทพฯ ตามจุดต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ประปาแม้นศรี ลานคนเมือง ไปรษณียาคาร บ้านนางเลิ้ง เป็นต้น

5.ย่านอารีย์ -ประดิพัทธ์ โดยกลุ่ม AriAround ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายนักสร้างสรรค์ จัด กิจกรรม “เปิดบ้าน เปิดย่าน เปิดเมือง” ให้ชมสตูดิโด อาคารบ้านเรือน รวมถึงร้านค้าเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ เช่น โครงการ 33 space สวนซอยประดิพัทธ์ 17 สวนกรมประชาสัมพันธ์

6.ย่านพร้อมพงษ์ ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง ซอยสุขุมวิท 26 โดยกลุ่ม 49 & FRIENDS เป็นการรวมตัวของนักสร้างสรรค์ ยกระดับให้ย่านมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากผลงาน 49 & FRIENDS: LUMINOUS 26 พัฒนาสิ่งแวดล้อมใหม่ ในซอยสุขุมวิท 26 ออกแบบระบบส่องสว่างใหม่ เพิ่มความปลอดภัยของคนเดินถนนและรถยนต์ในยามค่ำคืน
 

7.ย่านบางโพ สานต่อ ‘ถนนสายไม้บางโพ ตํานานที่มีชีวิต’ ย่านการสร้างมูลค่าเพิ่ม หาซื้องานไม้ดีไซน์เก๋ราคาพิเศษในรอบ 15 ปี งานไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ งานแกะสลัก ไม้แปรรูป ของตกแต่งประเภทต่าง ๆ รับส่วนลดสูงสุดกว่า 50%  
 

8.ย่านวงเวียนใหญ่– ตลาดพลู / คลองสาน บนถนนสายวัฒนธรรม ความเชื่อ อาหาร และศิลปกรรม ในรูปแบบใหม่ โดย SC Asset ร่วมกับ กลุ่มยังธน สถานบันการศึกษา กลุ่มนักสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ประกอบการ ชุมชนคนในพื้นที่ และย่านคลองสาน ดึงสินทรัพย์สร้างมูลค่าเพิ่มมานำเสนอในการออกแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ด้วยกิมมิคนั่งเรือเที่ยวตามสไตล์ กลุ่ม SUP X Klong San และไอคอนสยาม
งานถลกหนังที่ไม่ต้องกลัวหนังถลอก แค่เข้าไปสัมผัสจัดการออกแบบให้เข้ากับที่อยู่อาศัยที่ “THE MAKER” ซอยกรุงธนบุรี : อยู่อย่างย่านเจริญรัถ โดย SC Asset ออกแบบผลิตภัณฑ์  

9.ย่านเกษตร แนวคิด ‘GREEN LIVING กรีนดีอยู่ดี’ไม่ใช่แค่เที่ยวงานเกษตรแฟร์ แต่ต้องข้ามฟากเข้าตลาดอมรพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกลุ่มร้านค้าผู้ประกอบการ ชุมชนคนในพื้นที่เข้าร่วมเทศกาลครั้งนี้พบกับไฮไลต์ที่สร้างสรรค์ พร้อมออกแบบการบริหารจัดการขยะด้วยจุดทิ้งขยะ รูปแบบใหม่

มาร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมือง – มิตร – ดี’ สำหรับทุกคนใน #BKKDW2023 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.bangkokdesignweek.com, FB และ IG: bangkokdesignweek, Twitter : @BKKDesignWeek, Line: @bangkokdesignweek
 

ที่มา:

ข่าวความมั่นคงออนไลน์
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

ผู้นำเสนอข่าว

yoko

Written by:

3,729 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *