เดินเครื่องเหมืองทองอัครา คาดสร้างงานพันอัตรา ชาวบ้านวอนรับคนพื้นที่ทำงานก่อน

เดินเครื่องเหมืองทองอัครา คาดสร้างงานพันอัตรา ชาวบ้านวอนรับคนพื้นที่ทำงานก่อน

เหมืองทองอัคราคืนชีพ คาดสร้างงานราวพันอัตรา หลังโรงประกอบโลหกรรมทำงานครบ 2 โรง ด้าน ชาวบ้านพิจิตรวอนขอให้ช่วยคนในพื้นที่ได้งานทำก่อนคนนอก เชื่อ ศก.ในพื้นที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังพ้นโควิด

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายหลังที่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้รับหนังสือจากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.พิจิตร เมื่อ 15 มี.ค. 66 แจ้งการออกใบอนุญาตการเปิดการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรม ต่อมา 16 มี.ค. 66 สำนักงานอุตสาหกรรม จ.เพชรบูรณ์ แจ้งหนังสืออนุญาตเปิดการทำเหมืองสำหรับประทานบัตร ฝั่ง จ.เพชรบูรณ์ ทำให้บริษัท อัคราฯ ได้เปิดดำเนินกิจการได้เต็มรูปแบบ และเมื่อ 21 มี.ค. 66 นายวรงค์ สราญฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายบริหารองค์กร พร้อมกับ นายเชาว์ลิต ทองคำ หัวหน้างานอาวุโสฝ่ายผลิต เป็นตัวแทนพนักงานกดปุ่มเดินเครื่องจักรเป็นรอบที่ 2 ภายหลังที่บริษัทฯ หยุดดำเนินกิจการมากว่า 6 ปี ตามคำสั่งของรัฐบาล

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร กล่าวว่า ทันทีที่เรากดปุ่มเดินเครื่องจักร เท่ากับเป็นการกดปุ่มเดินหน้านำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในทันที โดยบริษัทฯ ต้องสมทบเงินเข้ากองทุนจำนวน 4 กอง คิดเป็นร้อยละ 21 ของค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทฯ ชำระให้กับรัฐบาล หรือรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี ตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคํา ส่งผลให้มีเม็ดเงินจากกองทุนไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และสาธารณประโยชน์ต่างๆ ในพื้นที่ โดยบริษัทฯ จะเดินหน้าตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ ระยะแรกจะใช้โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เพียงโรงเดียว จากนั้นจึงจะเริ่มซ่อมโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 และเมื่อโรงประกอบโลหกรรมทั้ง 2 แห่ง สามารถกลับมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว จะเปิดรับพนักงานเพิ่ม เพื่อรองรับปริมาณงานที่มากขึ้นต่อไป โดยรวมแล้วจะก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งโดยตรงและผ่านผู้รับเหมา ประมาณ 1 พันคน

ด้าน นางประภัสสร กาศโอสถ อายุ 50 ปี เจ้าของร้านกาแฟโบราณและอาหารตามสั่ง หมู่ 7 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เปิดเผยว่า เปิดร้านกาแฟโบราณและอาหารตามสั่งมาตั้งแต่ก่อนเหมืองทองเปิดดำเนินกิจการ ช่วงเหมืองทองเปิดลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานของเหมืองทอง ร้านของตนและร้านค้าภายในหมู่บ้านรอบเหมืองฯ ขายของดีมาก ทำให้เศรษฐกิจภายในหมู่บ้านและตำบลก็ดี เพราะคนมีงานทำ ต่อมาเมื่อเหมืองทองถูกสั่งปิด และมีโรคโควิดมาอีกหลายรอบ ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี ชาวบ้านต้องอพยพไปหาทำงานที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เมื่อทราบข่าวว่าเหมืองทองได้เปิดกิจการอีกรอบ รู้สึกดีใจ เพราะชาวบ้านรอบเหมืองทองจะได้มีงานทำ และหวังว่าเศรษฐกิจที่ซบเซาไปนานจะกลับมาดีขึ้น เพราะคนจะมีเงิน มีกำลังซื้อ

ส่วน นายสมหมาย (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี ชาวบ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กล่าวว่า ตนเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่เหมืองทอง เมื่อทราบว่าเหมืองทองได้เปิดอีกรอบครั้งแรก รู้สึกดีใจที่ลูกหลานและคนในหมู่บ้านจะได้กลับมาทำงานใกล้บ้านอีกครั้ง แต่หลังจากมีการเปิดรับพนักงานรอบใหม่ มีหลายคนบ่นให้ฟังว่า คนในหมู่บ้านและรอบๆ เหมืองทอง ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานมากเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นนอกพื้นที่ที่ได้มาทำงาน

“ในการคัดเลือกพนักงานครั้งต่อไป อยากจะฝากผู้บริหารขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านและชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ เหมืองทอง ที่จะได้รับสิทธิ์ในการพิจารณาให้เข้าทำงานก่อนคนนอกพื้นที่ และขอให้ช่วยดูแลผู้ประกอบการ ผู้รับเหมารายย่อยในพื้นที่ให้ได้มีงานทำ และอุดหนุนร้านค้าสิ่งของและอุปกรณ์ในพื้นที่ด้วย” ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าว.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,449 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *