“ชูวิทย์” เขียนข้อความถึง “ทนายสีเทา” บอกไม่ใช่วิธีของคนมีจรรยาบรรณวิชาชีพ

“ชูวิทย์” เขียนข้อความถึง “ทนายสีเทา” บอกไม่ใช่วิธีของคนมีจรรยาบรรณวิชาชีพ

“ชูวิทย์” เขียนข้อความถึง “ทนายสีเทา” การที่ทนายอาศัยลูกความไปใช้ในการแถลงข่าว แทนการใช้กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่วิธีของคนมีจรรยาบรรณวิชาชีพ พร้อมชี้โจรก็มีจิตใต้สำนึกได้เหมือนกัน

กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ระหว่างศึกของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง กับ “ทนายตั้ม” หรือ ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด โดยต่างฝ่ายต่างเปิดโปงข้อมูลกันอย่างดุเดือด ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด เฟซบุ๊ก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ทนายสีเทา หากคนไม่มีทุกข์ ไม่เดือดร้อน ไม่มีใครไปหาทนาย มันไม่ได้หมายความว่าผู้บริสุทธิ์จะเป็นผู้ชนะคดีเสมอ ทนายเป็นตัวแปรสำคัญในการนำเสนอต่อศาล มีทั้งทนายถูกฝั่งตรงข้ามซื้อตัว หรือเป็นทนายเก่งวิ่งความ แต่ว่าความไม่เป็นสับปะรด ทนายที่ดีได้รับเงินค่าว่าจ้างในการว่าความให้ลูกความ มากน้อยแล้วแต่มาตรฐานของทนาย และลูกความ แต่ละคดีมีความยากง่ายต่างกัน ค่าทนายก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับคุณธรรมของทนายเป็นสำคัญ

สำหรับทนายบางคน ไม่ได้เงินหรือได้เงินน้อย แต่ทำเพราะอยากช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยแล้วมีคดีถูกฉ้อโกง อย่างนี้จึงเรียกว่าทนายประชาชน แต่การอาศัยสถานะทนายแล้วไปเก็บเงินค่าแถลงข่าว นี่เป็นครั้งแรกที่เจอในชีวิตตั้งแต่เคยขึ้นโรงขึ้นศาลมานับครั้งไม่ถ้วน ตนเป็นคนสีเทา เรื่องที่เอามาตีแผ่มาจากแหล่งข่าวเทาๆ จะไปบอกใครให้รู้ก็ไม่ได้ มันผิดวิสัยเป็นอย่างมาก

แต่หากเป็นโจรก็มีจิตใต้สำนึกได้เหมือนกัน ไม่ใช่มีเฉพาะในคนดี เพียงแต่จิตใต้สำนึกของโจรมันต่างกัน มันออกจะดิบกร้าน แต่ชัดเจนตรงไปตรงมาเพราะไม่ต้องอ้างเอาธรรมะมาปกป้อง การที่ทนายอาศัยลูกความไปใช้ในการแถลงข่าว แทนการใช้กระบวนการยุติธรรม จึงไม่ใช่วิธีการของคนมีจรรยาบรรณวิชาชีพที่ใช้เป็นสัมมาอาชีพเลี้ยงตนเอง และครอบครัวอย่างทนายทั่วไป

แม้จะรวยจากธุรกิจอาบอบนวด ก็ไม่ได้ปฏิเสธ รับกันตรงๆ แต่ไม่เคยไปโกงใคร บังคับให้ใครมาทำงานหรือมาเที่ยว ทุกคนล้วนเต็มใจทั้งนั้น แต่การใช้สื่อเป็นเครื่องมือให้มาฟังเรื่องราวซึ่งไม่รู้จริงหรือเท็จ เพื่ออาศัยสื่อไปเผยแพร่ในเรื่องที่ตัวเองได้ประโยชน์ส่วนตัว อย่างนี้ผิดวิสัย สื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอาวุโส แต่ขึ้นอยู่กับสำนึกว่าสิ่งที่นำเสนอให้สังคมรับรู้มีประโยชน์ใด

หากเป็นตลกก็สื่อความบันเทิง แต่ทนายที่ใช้สื่อเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างแยบยล เท่ากับสื่อก็โดนหลอกใช้ อันนี้เป็นกรณีศึกษา สมาคมสื่อและสภาทนายความต้องปกป้องเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของอาชีพ ไม่ให้เหลือบริ้นไรมาแอบแฝงหากิน พอจับได้ไล่ทันว่าค่าแถลงข่าว 300,000 บาท เสนอด้วยสำนักงานกฎหมายของตัวเอง ก็มาปัดพัลวันว่าแค่ 2-3 ครั้ง แต่ปัญหาอยู่ที่การกระทำแบบนี้ สังคม และสื่อยอมรับได้หรือไม่

ถ้ามีคนขายยาเสพติดไปจ้างทนายว่าความ แล้วทนายนำคนขายยาเสพติดไปแถลงข่าวคิดเงิน ก็ย่อมทำได้ แต่สื่อจะกลายเป็นเครื่องมือ แล้วผู้ต้องหาก็หนีไปต่างประเทศเสียด้วย เช่น กรณีดาราสาวที่แถลงแล้วหนีไปต่างประเทศ ผมไม่โทษผู้ต้องหา คนทำผิดต้องคิดหนี แต่คนช่วยบังให้นี่สิ น่าคิดว่ายิ่งทำยิ่งรวย ไม่ได้มาจากค่าว่าความ แต่มาจากการสนับสนุนให้หนีความหรือเปล่า

การใช้วิชาชีพที่ผิดจากเจตนารมณ์ ทั้งสื่อ ทั้งทนาย ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง สังคมลองตรองดูเอาเอง ชาวบ้านมีคดีหวังหนีร้อนมาพึ่งทนายประชาชน กลับถูกเรียกเอาค่าคุยหารือระยะเวลาสั้นๆ พอเห็นว่าลูกความมีสตางค์ก็ชวนไปแถลงข่าวเสียเงิน 300,000 บาท สังคมได้สิ่งที่ไร้สาระจากสื่อ ทนายได้เงิน และผมก็ต้องทนเขียนเรื่องไร้สาระถึงคุณ สู้ให้ผมไปทำงานของผม ต่อต้านกัญชาของพรรคบ้ากัญชา เขากระโดง ซุกหุ้น ซุกที่ และทุจริตคอร์รัปชันอีกมากดีกว่า เมื่อสังคมวิปริตต้องเลือกเอาเองแล้วว่าจะใช้คนอย่างผมหรือไม่ เพราะเวลาตาย ผมยอมตายเดี่ยว เมื่อมาคนเดียวก็ไปคนเดียว.

ขอบคุณเฟซบุ๊ก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,869 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *