ปลอมเฟซบุ๊ก “รองต่อศักดิ์” แชตคุยสาวกว่า 20 ราย บุกรวบ “หนุ่มขี้เหงา”

ปลอมเฟซบุ๊ก “รองต่อศักดิ์” แชตคุยสาวกว่า 20 ราย บุกรวบ “หนุ่มขี้เหงา”

ตำรวจไซเบอร์ นำกำลังบุกรวบหนุ่มขี้เหงา ปลอมเฟซบุ๊ก “รองต่อศักดิ์” แชตคุยสาวกว่า 20 ราย พบมีบัตรผู้ป่วยทางจิต ขณะที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ไม่ติดใจเอาความ สั่งประสานไปยัง รพ.เพื่อนำตัวส่งรักษา

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2, พ.ต.ท.คงกฤช รุ่งเรือง สว.กก.วิเคราะห์ข่าว บก.สอท.2 และเจ้าหน้าที่ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.2 ตรวจสอบกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก โปรไฟล์ “พลตํารวจโท ใหญ่ สิธิมงคล” มีการใช้รูปของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นรูปโปรไฟล์ เกรงว่าจะใช้ไปในทางผิดกฎหมาย โดยการตรวจสอบครั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากประชาชน หลังพบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กโปรไฟล์ดังกล่าวนำรูปของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล มาเป็นโปรไฟล์ จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชา ก่อนที่ทาง รอง ผบ.ตร.จะมอบหมายให้ทาง บช.สอท.เร่งตรวจสอบ

กระทั่งสืบสวนจนทราบว่าผู้ก่อเหตุคือ นายเชาวฤทธิ์ วอนวงษ์ อายุ 32 ปี พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 71/1 ม.3 ต.โนนห้อม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี จึงได้นำกำลังไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงพบ นายเชาวฤทธิ์ จึงแสดงตัวพร้อมกับขอตรวจสอบอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบบทสนทนาในแชตเฟซบุ๊กดังกล่าวได้มีการทักแชตไปสนทนากับผู้หญิงสาวที่เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กในลักษณะเชิงชู้สาว จํานวนกว่า 20 คน แต่ไม่ปรากฏว่าเกิดความเสียหาย หรือมีผู้หลงเชื่อ

นอกจากนี้ นายเชาวฤทธิ์ ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุจริง พร้อมกล่าวขอโทษที่ได้กระทำลงไป ส่วนสาเหตุที่ทำเพราะชื่นชอบในตัวของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อีกทั้งต้องการพูดคุยกับหญิงสาวเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาไปหลอกกลวงในทางอื่น อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบยังพบว่าผู้ก่อเหตุมีบัตรประจำตัวผู้ป่วยของ รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ ด้วย

ขณะที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการนำไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ อีกทั้งผู้ก่อเหตุมีอาการทางจิตเวช เป็นผู้ป่วย ซึ่งตนไม่ได้ติดใจเอาความ จึงได้ว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้กระทำแบบนี้อีกไม่ว่ากับใครก็ตาม และไม่ได้ดำเนินคดี เพียงให้ทางเจ้าหน้าที่ประสานไปยัง รพ.เพื่อนำตัวส่งรักษา และทำบันทึกและตรวจสอบประวัติก่อนปล่อยตัวไป

อย่างไรก็ตามส่วนตัวไม่ได้เล่นเฟซบุ๊ก ฝากไปยังพี่น้องประชาชนว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการติดต่อสื่อสาร การที่จะพูดคุยกับใครจะต้องตรวจสอบโปรไฟล์ให้ดีว่าบุคคลที่เราพูดคุยนั้นมีโปรไฟล์ชัดเจนหรือไม่ ในกรณีที่แอบอ้างเป็นตน หรือข้าราชการตำรวจ สามารถตรวจสอบได้จากแอปพลิเคชันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้มีการระบุข้อมูล ชื่อ-สกุล เบอร์โทรศัพท์ สังกัดรวมอยู่ในนั้น จึงอยากประชาสัมพันธ์เพราะห่วงพี่น้องประชาชนว่าจะตกเป็นเหยื่อ เพราะมีเคสลักษณะนี้ที่ไม่ตรวจสอบ สุดท้ายถูกทำมิดีมิร้ายตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เกิดความเสียหายทั้งร่างกายและทรัพย์สิน.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,587 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *