ศาลปกครองสูงสุด พิพากษา “บีพีเอ็นพี” ไม่มีคุณสมบัติ ประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ชี้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ปมยกเว้นให้ “บีพีเอ็นพี” มีคุณสมบัติประกวดราคา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. เวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ที่พิพากษา เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2563 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนมีคำสั่งดังกล่าว ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก รวมทั้งมีคำสั่งให้การทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนสิ้นผลบังคับ นับตั้งแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ตามที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ยื่นฟ้อง การรถไฟแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ว่ามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและหนังสือรับรองผลงานของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (ผู้ร้องสอด) ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2563 โดยอนุมัติยกเว้นให้แก่บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด มีคุณสมบัติเข้าร่วมการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ศาลให้เหตุผลว่า การที่บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จึงมีสถานะความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ดังนั้นบริษัทดังกล่าว จึงต้องมีผลงานก่อสร้างในนามบริษัท โดยไม่สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้ถือหุ้นมาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของบริษัทได้ การที่บริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และไม่ได้มีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง จึงไม่มีคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ดังนั้นการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน วินิจฉัยอุทธรณ์โดยอนุมัติยกเว้นให้บริษัทดังกล่าวเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ และสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้แสดงเป็นผลงานในการยื่นประกวดราคา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ด้วย พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560
ที่มา:thairath