ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร เผยค่าฝุ่น PM 2.5 เช้าวันนี้ กทม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินค่ามาตรฐาน จำนวน 7 พื้นที่
วันที่ 5 เมษายน 2566 มีรายงานว่า ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM 2.5 เวลา 05.00-07.00 น. (3 ชั่วโมงล่าสุด) ตรวจวัดได้ 31-55 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 44.0 มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้ค่า PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพบางพื้นที่
ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 32-55 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 7 พื้นที่(มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ได้แก่
1.เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน : มีค่าเท่ากับ 55 มคก./ลบ.ม.
2.เขตบางกอกใหญ่ บริเวณสี่แยกท่าพระ แขวงวัดท่าพระ : มีค่าเท่ากับ 54 มคก./ลบ.ม.
3.เขตปทุมวัน หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ : มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม.
4.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม.
5.เขตบางนา บริเวณหน้าห้าง สรรพสินค้าบิ๊กซี บางนา : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม.
6.เขตบางพลัด ภายในสำนักงานเขตบางพลัด : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม.
7.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม.
สำหรับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา)
ในช่วงวันที่ 5-6 เมษายน 2566 มีสภาพอากาศค่อนข้างปิด ทำให้เกิดการสะสมตัวของฝุ่น PM2.5 ได้ในระยะสั้น และจะกลับมามีแนวโน้มการสะสมตัวของฝุ่นPM2.5 ลดลงในช่วงวันที่ 7-12 เมษายน 2566
เนื่องจากสภาพอากาศเปิดและมีฝนบางพื้นที่ สำหรับในช่วงวันที่ 6-9 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป และวันนี้กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีอากาศร้อนกับมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน
ในช่วงวันที่ 5-7 เมษายน 2566 อาจมีสภาพอากาศที่ปิดได้ในบางพื้นที่ แต่ภาพรวมของพื้นที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับช่วงวันที่ 8-11 เม.ย.2566 เป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่
จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 เมษายน 2566 จำนวน 2 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 เวลา 01.43 น. แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก
จุดที่ 2 เวลา 01.43 น. แขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก
(อยู่ระหว่างประสานตรวจสอบทั้ง 2 จุด)
อย่างไรก็ตาม ขอแจ้งเตือนรวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านทาง
- แอปพลิเคชัน AirBKK
- www.airbkk.com
- www.pr-bangkok.com
- FB: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
- FB: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม
- FB: กรุงเทพมหานคร
- LINE ALERT
- LINE OA @airbangkok
เพื่อให้ประชาชนวางแผนการทำงาน การทำกิจกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ/มีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
กรณีประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแส ผ่านทาง Traffy Fondue
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ และกรมอุตุนิยมวิทยา
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/