จะรออีกนานแค่ไหนกว่าจะ “ปรับตัว” ต่อ Climate Change?

จะรออีกนานแค่ไหนกว่าจะ “ปรับตัว” ต่อ Climate Change?

สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ในช่วงนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงตื่นขึ้นมากลางดึกจากเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และฝนที่เทลงมาอย่างอึกทึก จนแทบจะทะลุหลังคาบ้าน ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ฝนที่ตกลงมามีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทุกปี ไม่ต่างจากอากาศที่ร้อนจัดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในฤดูร้อน ซึ่งทำให้การทำกิจกรรมกลางแจ้งลำบากขึ้นมาก สอดคล้องกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกทวีความรุนแรงขึ้นจริง และส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพายุฝนหรืออุณหภูมิสุดขั้ว ล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่สะสมมาในอดีต ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้อง “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อหยุดสร้าง “เหตุ” ที่จะทำให้วิกฤติ “รุนแรงขึ้นอีก” ในอนาคต แต่จำเป็นต้อง “ปรับตัว” ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในวันนี้จากเหตุในอดีตที่มนุษย์เราทำไว้

“การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในแวดวงวิชาการเรียกว่า “Climate Change Adaptation” โดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และคุณสวิสา พงษ์เพ็ชร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ในเชิงลึก ผู้เขียนจึงขอหยิบยกบางประเด็นมาชวนท่านผู้อ่านคิดตามกันวันนี้ครับ

ทั้งนี้ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีรูปแบบที่ค่อนข้างหลากหลายและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายภาคส่วน ยกตัวอย่าง การจัดทำฐานข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านภูมิอากาศและสุขภาพ เพื่อใช้แจ้งเตือนภัยโรคที่เกี่ยวข้องเช่น heat stroke การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การนำแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศมาใช้วางแผนเพาะปลูกในภาคเกษตรเพื่อป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า การปรับรูปแบบการจัดการ เช่น ปรับเวลาเปิด/ปิดแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย การเลื่อนปฏิทินเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนสนับสนุน โดยแต่ละรูปแบบก็ใช้เงินทุนไม่เท่ากันและต้องอาศัยเงินทุนจากหลายแหล่ง “การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Finance) จึงเป็นกลไกสำคัญในการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การให้สินเชื่อ การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ยังเป็นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Finance) เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่สะอาด มากกว่าการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Finance) และที่สำคัญระดับการสนับสนุนดังกล่าวยังไม่เพียงพอในการจัดการกับผลกระทบ ทั้งปัจจุบันและในอนาคต

ดังนั้น สมควรแล้วหรือไม่ที่เวลานี้ทุกภาคส่วนจะต้อง “ปรับตัว” อย่างจริงจัง รวมทั้งภาคการเงินที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างโดยสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรเลย เราทุกคนย่อมได้รับผลกระทบและความเสียหายใหญ่หลวงอย่างถ้วนหน้ากันแน่นอนครับ.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/

ผู้นำเสนอข่าว

Hnoy

Written by:

3,587 Posts

View All Posts
Follow Me :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *