วันนี้ (11 มกราคม 2567) เวลา 11.15 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ศูนย์ปฎิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า จุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธ์ุ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ (GISTDA) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมด้วย
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า จากแนวทางปฏิบัติที่จะควบคุมไฟป่า และจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่ง 1 ในมาตรการที่สำคัญ คือการดำเนินการจัดตั้งศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน (War Room ) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 400 วอร์รูม อยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ 186 วอร์รูม เป้าหมายเพื่อนำไปสู่การลดพื้นที่เผาไหม้ลงร้อยละ 50 จากปี 2566 ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 73 ล้านไร่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ที่จัดตั้งวอร์รูม จะมีการบูรณาการร่วมกันกับทุกหน่วยงานทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน ในการร่วมกันแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น pm 2.5 โดยมีการจัดชุดเฝ้าระวังไฟป่า 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 2,500 จุด มีเจ้าหน้าที่พร้อมดับไฟป่าตลอด 24 ชม. นอกจากนี้ยังมีการปรับงบประมาณ จ้างราษฎรในพื้นที่เดือนละ 9,000 บาท เพื่อช่วยดูแลพื้นที่เสี่ยงไฟป่า ซึ่งหากพื้นที่ใดดับไฟป่าไม่ได้ เข้าขั้นวิกฤติจะมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เสือไฟ จำนวน 5,260 คน ร่วมกับอาสาสมัครกว่า 1,300 คน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการดับไฟป่าในจุดวิกฤติพร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อขอความร่วมมือในการไม่เผาป่าและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดหากเจอผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่า
นอกจากนี้ นายอรรถพล ยังเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานหากพบเห็นไฟป่า ต้องดำเนินการ “เห็นให้ไว เข้าถึงให้ไว ควบคุมและดับไฟป่าได้ไว เราจะทำงานเชิงรุก ไม่ตั้งรับอีกแล้ว” โดยตั้งเป้าหมายลดไฟไหม้ให้น้อยลง ร้อยละ 50 จากปี พ.ศ.2566 สำหรับพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปี 2566 รวม 12.78 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุด 17 จังหวัด 9.87 ล้านไร่ ซึ่งได้เตรียมดำเนินการ ดังนี้
1.จัดการเชื้อเพลิงพื้นที่เสี่ยง
2.ตรึงพื้นที่กำหนดจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวัง
3.จัดตั้งวอร์รูมระดับ สบอ.และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4.จัดเตรียมและบูรณาการกำลังพลเพื่อดับไฟป่า
5.ลาดตระเวน เฝ้าระวังควบคุมพื้นที่ตลอด 24 ชม.ในฤดูไฟป่า
6.จัดระเบียบพื้นที่การเผาเกษตรกรรมในเขตป่า
7.กำหนดแผนบริหาร จัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์
8.จัดระเบียบการเข้า – ออก พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9.ควบคุมการเก็บหาของป่าและใช้ประโยชน์
10.มวลชนสัมพันธ์ แบบเคาะประตูบ้าน (เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้เผาป่า)
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้ให้โอวาทในการตรวจติดตาม การปฏิบัติการควบคุมและดับไฟป่า โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชม การปฏิบัติงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรับทราบถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงาน สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดน นายกรัฐมนตรีจะให้การสนับสนุนในการเจรจา กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ สำหรับการดำเนินงานในช่วงวิกฤต ขอให้พิจารณาโยกย้ายสรรพกำลังให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยประสานกับพื้นที่อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในระดับจังหวัด หากอุปกรณ์ สรรพกำลังไม่เพียงพอ ขอให้ประสานบูรณาการจากหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างเต็มที่ ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ทั้งนี้ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัย ของเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานอย่างถึงที่สุด และหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ ในการปฏิบัติงานให้มีความพร้อมอยู่เสมอ อนึ่งนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้มอบไว้ใน การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ณ กองบิน 41 ดังนี้
- จะต้องติดตามสถานการณ์ทุกวัน แบ่งพื้นที่ดำเนินการ เอกซเรย์พื้นที่รายงานนายกฯ ทุกวัน
- มาตรการจะต้องครอบคลุม ทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว
- พื้นที่จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ทันท่วงที การดูแลสุขภาพประชาชนต้องร่วมมือกันทุกหน่วยงาน
- ให้ข้อมูล สุขภาพในทุกมิติห้องปลอดฝุ่นพื้นที่ปลอดภัย ดูแลประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง
- การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หน้ากากกรองฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ เครื่องกรองฝุ่นที่เพียงพอ
- ให้ความสำคัญ กับการสร้างความตระหนัก การบูรณาการการร่วมมือ กับประชาชน ดูแลป่าแทนการเผา
ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้ชมการฝึกของชุดเสือไฟ ตรวจเยี่ยมจุดตรวจ-จุดสกัด และจุดเฝ้าระวัง พร้อมทั้งร่วมทำแนวกันไฟกับสื่อมวลชนและประชาชน มอบเสบียงอาหารแก่เจ้าหน้าที่ชุดดับไฟป่า และชมการสาธิตการดับไฟป่าทางอากาศ
นอกจากนี้ นายกฯยังต้องการให้ลด Hot spot ให้ได้ ทำแนวกันไฟโดยความร่วมมือของทุกคน และสร้างความเข้าใจ ให้กับประชาชนเพื่อเข้ามาดูแลป่า ไม่เผาเศษวัสดุในการเกษตร แต่นำมาใช้ประโยชน์แทน พร้อมทั้งปลูกป่าสร้างความชุ่มชื้น ให้ป่าเพื่อป้องกันการเกิดไฟ และสามารถดับได้รวดเร็วในกรณีที่มีไฟ ขณะที่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทุกระดับ
นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า
ได้รับทราบนโยบาย จึงมอบหมายให้
นายนครินทร์ สุทัตโต ผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้แนวทางไว้ในวันนี้
เพื่อลดพื้นที่ไฟไหม้ 50% จากปี 2566 ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ต่อไป