รองชนธัญฯ หารือเตรียมความพร้อมจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา จชต. มิติเศรษฐกิจ โดยความร่วมมือหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรม เริ่มต้นสตูลเป็นจังหวัดแรก ก่อนเสนอหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมในประเทศไทย หวังเป็นยุทธศาสตร์ของประชาชนอย่างแท้จริงโดยประเทศไทยทุกภาคส่วนร่วมมือขับเคลื่อน
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.00 น. ที่ ห้องประชุมบริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด เลขที่ 224 ม.6 ถนนยนตรการกำธร ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมประชุมหารือพร้อมชี้แจงการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ และแนวทางการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้เมืองแห่ง Food Innopolis ที่จำเป็นต่อภาคใต้ชายแดน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดสตูล ประกอบด้วย นายสมชาย ตันติ์ศรีสกุล คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายประสิทธิ์ แบ้สกุล ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองสตูล นายสมศักดิ์ เยาวมณีรัตน์ ที่ปรึกษาบริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด นางสายช่อ อังศุพานิช พาณิชย์จังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ด้วย
ในการนี้ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการทำงานของรัฐบาลในอนาคต จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเป็นเมืองแห่ง Food Innopolis โดยจะร่วมมือกับเชฟชุมพล แจ้งไพร ในการลงพื้นที่ดูงานในสถานที่จริง และบริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัดแห่งนี้ เป็นหนึ่งในที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสถานที่ดูงาน เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาในพื้นที่ก่อนที่งบประมาณจะออกมาในปี 2667 นี้ โดยเน้นความมั่นคงด้านอาหาร ภายใต้ชื่อ Food Innopolis จะมีการสร้างเป็นโรงงานแปรรูปของรัฐบาลขนาดใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการผลิตอาหารที่เป็นจำพวกอาหารกระบวนการฟรีซดราย (Freeze Dry) และเทคโนโลยีไฮโดรเจน แล้วจะมีห้องที่ทำการทดสอบปฏิบัติการด้านการอาหารทั้งหมด จะมีห้องการเงินการตลาด ครบจบในที่เดียวกัน นี่คือโจทย์สำคัญของรัฐบาลที่กำลังจะสร้างขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การดำเนินงานของ ศอ.บต. และในส่วนของเชฟชุมพลที่ได้มีการเลือกดูงานจังหวัดสตูลและเน้นเรื่องของ เทคโนโลยีกระป๋อง นั้น ที่ผ่านมาจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่หลายฝ่ายมีการมองข้ามไปทั้ง ๆ จังหวัดสตูลที่หลายอย่างมีความโดดเด่น และที่น่าสนใจ อาทิ 1. การเปลี่ยนเกาะอาดัง ให้เป็น paradise island เพราะเกาะอาดัง จังหวัดสตูล เป็นหนึ่งในเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และเป็นเกาะที่มีความใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเกาะตะรุเตา มีหาดทรายละเอียดสวยงาม และ ศอ.บต. ได้ยกระดับและพัฒนาการท่องเที่ยว เกาะอาดัง จ.สตูล เป็น world class southern border, Thailand. The rivera of south east asia โดยมีแนวคิดยกระดับและพัฒนาเกาะอาดัง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเกาะที่มีศักยภาพสูงมาก เพื่อดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดสตูลให้มากยิ่งขึ้น 2. การจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูล ปัจจุบันได้ผ่านการอนุมัติเรียบร้อยแล้วและตอนนี้อยู่ระหว่างการกำหนดวันประชุมของคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา และมหาวิทยาลัยสตูล ยังเป็นมหาวิทยาลัยเคียงคู่ กับธุรกิจโดยมีสาขาวิชาอุตสาหกรรมการต่อเรือ จะเป็นอุตสาหกรรมต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้รับความร่วมมือกับประเทศทูร์เคีย แค่ตอนนี้รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้แล้วเสร็จ ทาง ศอ.บต. ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอันดามันอนาโตเลียน จังหวัดสตูลและผู้ประกอบการเอกชนในประเทศไทย จะไปหารือกับเอกอัครราชทูตทูร์เคีย ถึงโครงการการต่อเรือที่จะทำการร่วมมือกับจังหวัดสตูลโดยสมาคมการเดินเรือทูร์เคีย ที่มีออเดอร์การผลิตเรือยอร์ชขนาดใหญ่ จำนวน 200 ลำโดยให้ฝั่งจังหวัดสตูลเป็นผู้ควบคุมการผลิตทั้งหมด นอกจากนี้ ศอ.บต. ได้มีแผนที่จะผลิตเรือยนต์ไฮบริด โดยจะเริ่มวางแผนในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นี้ ซึ่ง ศอ.บต. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มผลิตเรือยนต์ไฮบริด 3 ระบบ ประกอบด้วยระบบน้ำมัน (ซึ่งเป็นพื้นฐาน) ระบบลม และระบบเทคโนโลยีแสงอาทิตย์ อยู่ด้วยกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เรือที่มีคุณภาพและมาตรฐานในการผลิต และประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสตูลยังมีคณะต่าง ๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจประกอบด้วย ด้านการเกษตร และด้านการปศุสัตว์ แต่สำคัญที่สุดคือต้นทุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะจังหวัดสตูลมีเยอะมาก และในอนาคตจะมีการร่วมมือกับประเทศมาเลเซียที่จะทำคู่กันกับจังหวัดสตูลและมหาวิทยาลัยปูตราจายาในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย และ 3. ศอ.บต. ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการของประเทศมาเลเซีย เรื่อง 3 โครงการใหญ่ ประกอบด้วย 1. ผลักดันการก่อสร้าง สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 ในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก 2. ทำถนนเชื่อมสะเดา-บูกิตกายูฮีตัม หนุนเศรษฐกิจชายแดน และ 3. ท่าเรือเทียบรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียกับจังหวัดสตูล นี่คือทั้งหมดที่ทางรัฐบาล โดย ศอ.บต. ได้เนินการ และอีกหลายโครงการกำลังเร่งดำเนินให้แล้วเสร็จ เพื่อให้จังหวัดสตูลเกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงต่อไป
ด้าน นายสมชาย ตันติ์ศรีสกุล คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณรองเลขาธิการ ศอ.บต. ที่ไม่ทิ้งประชาชนชาวจังหวัดสตูล ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า จังหวัดสตูลขาดคนดูแลอย่างยาวนาน และเป็นจังหวัดที่หลายหลายหน่วยงานไม่ค่อยให้ความสำคัญ ที่จริงแล้วจังหวัดสตูลถือเป็นจังหวัดที่มีเพชรเม็ดงาม แต่ขาดคนเจียรนัย จนทำให้วันนี้เริ่มมีกำลังใจมากขึ้น เพราะ รัฐบาล โดย ศอ.บต. ยื่นมือมาพัฒนาจังหวัดสตูลในหลาย ๆ ด้าน และเห็นเป็นภาพที่ดีมากขึ้น ตอนนี้ประชาชนทุกคนในจังหวัดสตูลอยากร้องขอให้ทางรัฐบาล ช่วยเคร่งผลัดดันเรื่องสตูลอันดามันเกตเวย์ ฝั่งรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย เพื่อชาวสตูลให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้นต่อไป
ด้าน นายประสิทธิ์ แบ้สกุล ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองสตูล กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันจังหวัดสตูลประสบกับปัญหาเรื่องของการขนส่งสินค้า เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา นักธุรกิจหลายคนนำปลาทูน่าจากประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาฝั่งไทยที่จังหวัดสตูล แต่ปัจจุบันนี้หายไปแล้ว เพราะไม่มีนักธุรกิจคนไหนทนได้กับต้นทุนการขนส่ง ต้องยอมรับว่านักธุรกิจทุกคนมีความสามารถผลิตสินค้า แต่ไม่สามารถแบกรับภาระอันหนักแน่ของต้นทุนการขนส่งได้ เพราะจังหวัดสตูลไม่มีท่าเรือของตนเอง ถ้าจะต้องขนส่งสินค้าจริงจะต้องนำสินค้าลงที่อำเภอสะเดา เข้าฝั่งปีนัง ประเทศมาเลเซีย ทั้งๆจังหวัดสตูลติดกับทะเลฝั่งอันดามัน แต่ไม่มีท่าเรือให้นำสินค้าลงได้เลย แต่ถ้าสามารถลงได้ ก็ต้องพบกับข้อกฎหมายมากมาย จึงทำให้ค่าขนส่งเพิ่มมากยิ่งขึ้น และผู้ประกอบการรับมือไม่ไหว ทำให้จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่ไม่ค่อยมีนักธุรกิจให้ความสนใจมากนัก
ทั้งนี้ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ไป ทาง ศอ.บต. จะต้องทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉบับใหม่ จึงจะนำเรื่องการพัฒนาจังหวัดสตูล เข้ามาดูแลภายใต้ของ ศอ.บต. เช่นเดิม โดยให้ทางภาคธุรกิจในจังหวัดสตูลไปหารือถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตมีความต้องการอย่างไร อยากให้รัฐบาล ดูแลเกษตรกรในพื้นที่อย่างไร และงบประมาณส่วนไหนที่อยากให้รัฐบาลไปสนับสนุนก่อน เพื่อนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป และที่สำคัญจะต้องเน้นเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร โดยจะมีการผลิตอาหารให้กับประชากรทุกศาสนา ทุกมุมโลก และในอนาคต ศอ.บต. จะดำเนินการปรับแผนใหม่ โดยให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจชายแดนใต้เติบโตและดีขึ้นตามลำดับ